Eat Fun Travel Latest view
Thumbnail imgxs

ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียน "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นแห่งที่ 5 ของไทย กรมศิลป์ร่วมฉลองงดเก็บค่าเข้าชม ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม ถึง วันที่ 12 สิงหาคม 2567


            องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)  ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period)  เป็นแหล่งมรดกโลกของประเทศไทย ลำดับที่ 8  และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5  และยังเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของ จ.อุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เมื่อ พ.ศ.2535

          อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก ภายใต้คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ได้แก่ การรักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมของแหล่งวัฒนธรรม สีมาหินสมัยทวารวดี และเป็นประจักษ์พยานที่ยอดเยี่ยมของการสืบทอดของวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องอย่างยาวนานกว่าสี่ศตวรรษ โดยเชื่อมโยงเข้ากับประเพณีของวัดฝ่ายอรัญวาสีในเวลาต่อมา




การเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
  • เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 8.30 - 16.30 น.(ไม่มีวันหยุด)
  • มีบริการแผ่นพับ จุดชมวีดีทัศน์ นิทรรศการ ร่ม รถวีลแชร์ รถไฟฟ้า ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
  • จุดบริการขายบัตร ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท
  • (ผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ผู้พิการ พระภิกษุ-สามเณร ภิกษุณี) เข้าชมฟรี
  • มีบริการนำชม (ไทย - อังกฤษ) ระหว่างเวลา 8.30 - 16.30 น.
  • สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 042-219838 , 042-219837 (ในวันและเวลาราชการ)
  • Facebook อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท 
 image2
 image3

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

image ext
image ext
              อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท  ตั้งอยู่บนภูเขาที่ชื่อว่าภูพระบาท ในเขตพื้นที่เมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ซึ่งเป็นเทือกเขาหินทราย อยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุดรธานี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยปานกลางประมาณ  320 – 350 เมตร สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่ง มีพืชพันธุ์ธรรมชาติประเภทไม้เนื้อแข็งขึ้นปกคลุม
 
              จากการสำรวจทางโบราณคดีที่ผ่านมาได้พบว่าบนภูพระบาทแห่งนี้ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์กำหนดอายุได้ราว 2,500 – 3,000 ปีมาแล้ว ดังตัวอย่างการค้นพบภาพเขียนสีอยู่มากกว่า 54 แห่งบนภูเขาลูกนี้ นอกจากนี้ก็ยังพบการดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมเขมร วัฒนธรรมล้านช้างและรัตนโกสินทร์ตามลำดับ ซึ่งร่อยรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
 
              ด้วยเหตุนี้กรมศิลปากรจึงดำเนินการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติขนาดพื้นที่ 3,430 ไร่ จากกรมป่าไม้ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2524 จากนั้นจึงได้พัฒนาแหล่งจนกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทในที่สุด และได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2535 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด
 
              ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กรมศิลปกร กระทรวงวัฒนธรรม มีโบราณสถานในพื้นที่รับผิดชอบซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 78 แห่ง มีภารกิจหลักในการดูแลรักษา อนุรักษ์และพัฒนา และทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโบราณสถานและโบราณวัตถุที่อยู่ภายในพื้นที่อุทยานฯและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งยังเปิดให้บริการในฐานะแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมสำหรับประชาชนทั่วไป
 
              อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ที่มีจุดเด่นแตกต่างจากแห่งอื่นๆ เนื่องจากโบราณสถานส่วนมากที่พบอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ โดยโครงสร้างแล้วเกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อธรณีสัณฐานของพื้นที่ ต่อมามนุษย์ในอดีตได้เข้ามาดัดแปลงเพื่อสนองต่อวัฒนธรรมในแต่ละช่วงสมัย 

ไทม์ไลน์สำคัญ

  • 8 มีนาคม 2478  ราชบัณฑิตยสภาประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในขณะนั้นใช้ชื่อว่า “พระพุทธบาทบัวบก” อำเภอบ้านผือ ตำบลเมืองพาน
  • พ.ศ.  2516 - 2517 คณะสำรวจโบราณคดี โครงการผามอง สำนักงานพลังงานแห่งชาติ ได้สำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนผามอง เดินทางมาสำรวจพบแหล่งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่งบนภูพระบาท
  • 28 เมษายน  2524 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา ระบุว่า “โบราณสถานพระพุทธบาทบัวบก ที่ภูพระบาท เนื้อที่ประมาณ 19,062 ไร่ ปรากฏว่าเนื้อที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และจำนวนเนื้อที่ตามข้อเท็จจริงคือประมาณ 3,430 ไร่”
  • พ.ศ.  2531 ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ รองอธิบดีกรมศิลปากร ขณะนั้น มีดำริเห็นควรดำเนินการพัฒนาพื้นที่ของภูพระบาทขึ้นเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีความพร้อมหลายด้านด้วยกัน อาทิ จำนวนโบราณสถานมากมายทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ซึ่งประกาศเขตโบราณสถานแล้ว ป่าไม้ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และประติมากรรมหินตามธรรมชาติ
  • พ.ศ.  2532 เริ่มโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น โดยจัดทำแผนงานโครงการและจัดหางบประมาณมาดำเนินการอนุรักษ์หลักฐานทางโบราณคดีและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก
  • พ.ศ.  2535 กรมศิลปากรกราบทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2535
  • พ.ศ. 2567 องค์การยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมลำดับที่ 5  ต่อจากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ (2566) เป็นแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานี และเป็นลำดับที่ 8 ของประเทศไทย

อารยธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ และยุคประวัติศาสตร์

image ext
image ext
ยุคก่อนประวัติศาสตร์
 
จากการศึกษาลักษณะ และเนื้อหาสาระของภาพเขียนสีแล้ว ทำให้นักโบราณคดีมีความเห็นว่า ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในประเทศไทยนั้น มีทั้งภาพการดำรงชีวิตด้วยการหาของป่าล่าสัตว์เเละภาพการทำเกษตรกรรม จึงน่าจะมีอายุในช่วงราว 3,000 – 2,500 ปีมาเเล้ว ซึ่งเป็นสมัยที่มนุษย์รู้จักการทำเกษตรกรรมเเละการทำเครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะเเล้ว
 
ภาพเขียนสีที่พบบนภูพระบาทมีทั้งเเบบเขียนด้วยสีเดียว (Monochrome) คือสีเเดง เเละหลายสี (Polychromes) คือสีเเดง ขาว เหลือง ตัวภาพเเบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
          1. ภาพเสมือนจริง (ภาพคน, สัตว์, พืช, สิ่งของ)
          2. ภาพนามธรรม (ภาพสัญลักษณ์, ลายเรขาคณิต)
 
สีที่นำมาใช้เขียนนั้น สันนิษฐานว่าเป็นสีที่นำมาจากวัตถุดิบธรรมชาติเช่น ดินเทศ แร่เฮมาไทต์ โดยอาจนำสีที่ได้นี้ไปผสมกับของเหลวที่มีคุณสมบัติเป็นกาว เช่น ยางไม้ เสียก่อนเเล้วจึงนำมาเขียน เพื่อให้สีติดกับเพิงหินทนนาน





ยุคประวัติศาสตร์
 
พื้นที่บนภูพระบาท เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 หรือราว 1,400 – 1,000 ปีมาแล้ว ได้รับเอาวัฒนธรรมทวารวดีที่แพร่มาจากภาคกลางของประเทศไทย พร้อมกับคติความเชื่อทางพุทธศาสนา ทำให้เกิดการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ เนื่องในพุทธศาสนาขึ้น ได้แก่ การตกแต่งหรือดัดแปลงเพิงหินให้เป็นศาสนสถาน โดยมีรูปแบบการติดตั้งใบเสมาหินทรายล้อมรอบเอาไว้
 
ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 15 – 18 อิทธิพลศิลปกรรมแบบเขมร ซึ่งแพร่หลายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ได้เข้ามามีบทบาทในแถบนี้ ที่ถ้ำพระมีการตกแต่งสกัดหินเป็นรูปพระโพธิสัตว์และรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเขมร ที่วัดพระพุทธบาทบัวบานและที่วัดโนนศิลาอาสน์ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับภูพระบาท มีการสลักลวดลายบนใบเสมาหินทรายเป็นเรื่องพุทธประวัติและชาดก ซึ่งมีลวดลายตามรูปแบบศิลปกรรมแบบเขมร
 
หลังจากช่วงสมัยทวารวดีและเขมรผ่านไป ในราวพุทธศตวรรษที่ 22 – 23 วัฒนธรรมล้านช้าง ได้แพร่เข้ามาที่ภูพระบาท พบหลักฐานเป็นพระพุทธรูปเช่น พระพุทธรูปที่ถ้ำพระเสี่ยง ส่วนด้านสถาปัตยกรรมพบหลักฐานที่วัดลูกเขย

ข้อมูลและภาพจาก กรมศิลปากร

New stories

all : eat | fun | travel | cannabis

Latest view

มีเรื่องอยากเล่า มีร้านอยากอวด มีกิจกรรมเด็ดๆ อยากโปรโมทเชิญชวน ส่งเรื่อง/ภาพมาที่ eatfuntravel.com@gmail.com