Eat Fun Travel Latest view
Thumbnail imgxs

องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกของประเทศไทยทั้งสิ้น 8 แหล่ง เป็น แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม 5 แหล่งและแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แหล่ง ล่าสุดคือ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี


มรดกโลกในประเทศไทย 


รวม 8 แห่ง (ตามลำดับปีที่ขึ้นทะเบียน) 
  1. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (เมืองเก่าอยุธยา)  (Historic City of Ayutthaya)  จ.พระนครศรีอยุธยา  ขึ้นทะเบียนปี 2534/1991 ประเภท วัฒนธรรม
  2. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns) จ.สุโขทัยและกำแพงเพชร   ขึ้นทะเบียนปี 2534/1991   ประเภท วัฒนธรรม
  3. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง (Thungyai-Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuaries) จ.กาญจนบุรี ตาก และอุทัยธานี  ขึ้นทะเบียนปี 2534/1991   ประเภท ธรรมชาติ
  4. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (Ban Chiang Archaeological Site) อุดรธานี   ขึ้นทะเบียนปี 2535/1992  ประเภท วัฒนธรรม
  5. กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (Dong Phayayen-Khao Yai Forest Complex)  จ. สระบุรี นครราชสีมา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์  ขึ้นทะเบียนปี 2548/2005  ประเภท ธรรมชาติ
  6. กลุ่มป่าแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Forest Complex) จ.ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นทะเบียนปี 2564/2021  ประเภท ธรรมชาติ
  7. เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถาน สมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง  (The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments) จ.เพชรบูรณ์  ขึ้นทะเบียนปี 2566/2023   ประเภท วัฒนธรรม
  8. ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period) จ.อุดรธานี  ขึ้นทะเบียนปี 2567/2024 ประเภท วัฒนธรรม



 
 

1. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (Historic City of Ayutthaya)

image ext
image ext
นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (Historic City of Ayutthaya)
ประเภทแหล่งมรดกโลก วัฒนธรรม (Cultural site)
ขึ้นทะเบียนปี 2534/1991  
คุณค่าความเป็นสากล  3 : เป็นเอกลักษณ์ที่หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม
ที่ตั้ง อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000


        พื้นที่นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาตั้งอยู่บนเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา โดยมีแม่น้ำไหลผ่าน 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี รวมทั้งปรากฏคลองกระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่
 
         พื้นที่มรดกโลกครอบคลุมพื้นที่ 1,810 ไร่ ตั้งอยู่ในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา พื้นที่ดังกล่าวได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานของชาติและกำหนดขอบเขตแล้ว ตามประกาศราชกิจจานุเบกษาเรื่องกำหนดที่ดินโบราณสถาน ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2519 ภายในพื้นที่ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญ เช่น พระราชวังโบราณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดมหาธาตุ เป็นต้น รวมถึงโบราณสถานประเภท วัด ถนน คูคลอง และย่านโบราณ ทั้งที่ดำเนินงานทางโบราณคดีและ และยังไม่ได้ดำเนินงาน

        กรุงศรีอยุธยาเป็นอดีตราชธานีในพื้นที่ประเทศไทยที่เจริญรุ่งเรืองในพุทธศตวรรษที่  19 - 24 รวมระยะเวลาการเป็นราชธานียาวนานถึง 417 ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น 34 พระองค์ โดยเมืองอยุธยาเป็นประจักษ์พยานหลักฐานที่แสดงถึงพัฒนาการทางศิลปะของไทยซึ่งยังคงปรากฏร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมอันงดงามและทรงคุณค่า ตลอดจนวิถีชีวิตในอดีต และความชาญฉลาดในการเลือกที่ตั้งชุมชนของชุมชน รวมถึงการสร้างถนน คู คลองอย่างเป็นระบบ โดยมีโบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ พระราชวังโบราณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วิหารพระมงคลบพิตร วัดโลกยสุธาราม วัดธรรมิกราช เป็นต้น

  ข้อมูลและภาพกรมศิลปากร

2. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns)

image ext
image ext
เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns) จ.สุโขทัยและกำแพงเพชร
ประเภทแหล่งมรดกโลก วัฒนธรรม (Cultural site)
ขึ้นทะเบียนปี 2534/1991  
คุณค่าความเป็นสากล
1 : เป็นตัวแทนที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรม หรือตัวแทนของความงดงามและเป็นผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาด
3 : เป็นเอกลักษณ์ที่หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม
ที่ตั้ง
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย 64210
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย 64190
อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร 62000


            เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร ครอบคุลมพื้นที่ 74,075 ไร่ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโทัย (43,750 ไร่) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย (28,212.5 ไร่) และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร (2,1125 ไร่) ตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขา  ซึ่งเทือกเขานี้ถือเป็นแหล่งทรัพยากร ที่สำคัญของเมืองสุโขทัย โดยเป็นทั้งแหล่งของป่าแร่ธาตุ และแหล่งต้นน้ำที่นำมาใช้อุปโภค บริโภคภายในเมือง  นอกจากนี้ยังมีลำน้ำสายเล็กๆ เรียกว่า คลองแม่ลำพัน ที่มีต้นกำเนิดจากจังหวัดลำปาง ไหลผ่านเมืองแล้วไปบรรจบกับแม่น้ำยม ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 12 กิโลเมตร  เมืองสุโขทัยในระยะแรกสันนิษฐานว่า ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือโดยมีวัดพระพายหลวงเป็นศูนย์กลาง  ต่อมาจึงได้มีการขยับขยายมาสร้างเมืองใหม่ทางด้านทิศใต้ดังที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน

             ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ 
             ชุมนุมของบ้านเมืองในแคว้นสุโขทัย ครอบคลุมพื้นที่ บริเวณที่ราบตอนล่างของลุ่มแม่น้ำยม ปิง น่าน ที่ราบลุ่มแม่น้ำเมย และที่ราบตอนบนของแม่น้ำป่าสัก จากหลักฐานระบุว่าพื้นที่นี้มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เริ่มปรากฏเป็นแว่นแคว้นเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18 และเจริญรุ่งเรืองอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19-21  ที่ตั้งของแคว้นสุโขทัยอยู่ระหว่างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และเจริญมาก่อน นั่นคือ อาณาจักรพุกามทางด้านตะวันตก และอาณาจักรเขมรทางด้านตะวันออก  ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เกิดอาณาจักรที่มีอำนาจขึ้น 2 อาณาจักร ทางเหนือของสุโขทัยมีอาณาจักรล้านนา ซึ่งมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ สามารถแผ่อาณาเขตมาถึงเมืองตากซึ่งเคยเป็นของสุโขทัย ส่วนทางใต้ของสุโขทัย คือ อาณาจักรอยุธยาที่ได้สถาปนาขึ้นเมื่อพุทธศักราช 1893 และสามารถควบคุมเมืองในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ได้ กระทั่งถูกยึดครองทั้งหมดในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 


             การเปิดอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
             พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาทรงประกอบพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 20 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2531 ซึ่งรัฐบาลและประชาชนชาวไทยร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ และ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ทั้งเพื่อธำรงรักษามรดกวัฒนธรรมแห่งบรรพชนไทยให้คงอยู่ยั่งยืน เป็นหลักฐานของอารยธรรมของประเทศไทยสืบไป
 
 
             การประกาศให้สุโขทัยเป็นมรดกโลก
             คณะกรรมการมรดกโลกแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ได้ประกาศในการประชุม ณ กรุงคาร์เธจ ประเทศตูนีเซีย ให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร เป็นมรดกโลก   เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พุทธศักราช 2534 นับเป็นมรดกโลกตามบัญชีในลำดับที่ 574
 
             จากหลักฐานที่ปรากฏ ณ เมืองโบราณสุโขทัย และเมืองบริวาร แสดงให้เห็นถึงผลงานอันล้ำเลิศทางสถาปัตยกรรมไทยยุคแรก ความงดงามอลังการของศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมแห่งอาณาจักรสุโขทัยเป็นประจักษ์พยานของความรุ่งเรืองในอดีต แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญา และประวัติศาสตร์ของการก่อตั้งประเทศ
 
             จากการดำเนินงานสำรวจและศึกษาโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในปัจจุบัน พบโบราณสถานจำนวน 217 แห่ง ดังนี้
             - โบราณสถานในเขตกำแพงเมืองสุโขทัย จำนวน 66 แห่ง
             - โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ จำนวน 30 แห่ง
             - โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ จำนวน 39 แห่ง
             - โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก จำนวน 24 แห่ง
             - โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก จำนวน 58 แห่ง


ข้อมูลและภาพกรมศิลปากร

3. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง (Thungyai-Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuaries) จ.กาญจนบุรี ตาก และอุทัยธานี ขึ้นทะเบียนปี 2534/1991 ประเภท ธรรมชาติ

image ext
image ext
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง (Thungyai-Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuaries) จ.กาญจนบุรี ตาก และอุทัยธานี 
ประเภทแหล่งมรดกโลก ธรรมชาติ
ขึ้นทะเบียนปี 2534/1991    
คุณค่าความเป็นสากล 
7 : เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ มีความโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด หรือเป็นพื้นที่ที่มีความงดงามตามธรรมชาติหาพื้นที่อื่นเปรียบมิได้
9 : เป็นตัวอย่างที่มีความโดดเด่นสะท้อนถึงกระบวนการนิเวศวิทยาและชีววิทยา ซึ่งก่อให้เกิดและมีพัฒนาการของระบบนิเวศทางบก หรือระบบนิเวศน้ำจืด หรือระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งสังคมสัตว์และพืช
10 : เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด รวมไปถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีความโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก
ที่ตั้ง
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ตำบลแม่ละมุ้ง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก 63170
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี 61160


               เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ - ห้วยขาแข้ง (Thungyai - Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuaries) มีพื้นที่รวม 4,017,087 ไร่ หรือ 6,427.34 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดตาก ประกอบด้วยผืนป่าอนุรักษ์ 3 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

                เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งสามแห่งนี้ เป็นป่าต้นน้ำของลำน้ำสำคัญทางธรรมชาติที่สำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำแควใหญ่ตอนบน (แม่น้ำแม่กลอง และลำห้วยขาแข้ง) ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในปี พ.ศ. 2534 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 15 ณ เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ - ห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

              เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ - ห้วยขาแข้ง ผ่านเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นมรดกโลก 3 ข้อ คือ เกณฑ์ข้อที่ 7 เป็นแหล่งที่เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีความโดดเด่นเห็นได้ชัด หรือเป็นพื้นที่ที่มีความงามตามธรรมชาติหาพื้นที่อื่นเปรียบเทียบไม่ได้ เกณฑ์ข้อที่ 9 เป็นตัวอย่างที่มีความโดดเด่นสะท้อนถึงกระบวนการนิเวศวิทยา และชีววิทยาซึ่งก่อให้เกิดและมีพัฒนาการของระบบนิเวศทางบก หรือระบบนิเวศน้ำจืด หรือระบบนิเวศชายฝั่งและทางทะเล และสังคมสัตว์ เกณฑ์ข้อที่ 10 เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด ซึ่งรวมไปถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชหรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่น เชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก

 ข้อมูลและภาพ กรมศิลปากร
 

4. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (Ban Chiang Archaeological Site)

image ext
image ext
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (Ban Chiang Archaeological Site) อุดรธานี  
ประเภทแหล่งมรดกโลก วัฒนธรรม (Cultural site)
ขึ้นทะเบียนปี 2535/1992
คุณค่าความเป็นสากล 3 : เป็นเอกลักษณ์ที่หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม
ที่ตั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี 41320
 
 
             แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง  เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตั้งอยู่บนเนินดินสูง รูปยาวรี ตามแนวตะวันออก - ตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ กลางเนินสูงกว่าพื้นที่รอบ ๆ ราว 8 เมตร ราษฎรชาวบ้านเชียงในปัจจุบันมีเชื้อสายลาวพวนที่อพยพเคลื่อนย้ายชุมชนมาจากแขวงเชียงขวางประเทศลาว เมื่อ 200 ปีมาแล้ว

             แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งที่ทำให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัตศาสตร์ ย้อนหลังไปกว่า 4,300 ปี ร่องรอยของมนุษย์ในประเทศไทยสมัยดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการแล้วในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความรู้ความสามารถหรือภูมิปัญญา อันเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยให้ผู้คนเหล่านั้นสามารถดำรงชีวิต และสร้างสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ได้สืบเนื่องต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนานวัฒนธรรมบ้านเชียง ได้ครอบคลุมถึงแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกกว่าร้อยแห่งเป็นบริเวณพื้นที่ที่มีมนุษย์อยู่อาศัยหนาแน่นมาตั้งแต่หลายพันปีแล้ว ด้วยเหตุนี้เององค์การยูเนสโก ของสหประชาชาติจึงได้ยอมรับขึ้นบัญชีแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียงไว้เป็นแห่งหนึ่งในบรรดามรดกโลก

           พัฒนาการสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง 
  • 2503 ชาวบ้านเชียง พบภาชนะลายเขียนสี
  • 2509 ชาวอเมริกัน ได้พบภาชนะดินเผาที่บ้านเชียงโดยบังเอิญจึงนำไปแจ้งที่กรมศิลปากร
  • 2510 เริ่มการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อย่างจริงจังเป็นครั้งแรก
  • 2515 เริ่มการขุดค้น ครั้งที่ 2
  • 20 มีนาคม 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เสด็จประพาสเยี่ยมชมหลุมขุดค้นทางโบราณคดี การเสด็จประพาสดังกล่าวได้กระตุ้นการสร้างสำนึกปลุกจิตสำนึกอนุรักษ์ให้ความสำคัญและความตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงซึ่งกำลังประสบปัญหาการลักลอบค้าโบราณวัตถุในขณะนั้น 
  • 2517-2518 กรมศิลปากรร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้ร่วมมือขุดค้นและหาข้อมูลใหม่เพิ่มเติม โดยเรียกโครงการนี้ว่า " โครงการ โบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • 2518 เริ่มจัดตั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งชาติ บ้านเชียง
  • 2524 สร้างอาคารหลังแรก
  • 21 พฤศจิกายน 2530 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา ทรงเป็นผู้แทนพระองค์เสด็จทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง 

           พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง ปัจจุบันมีพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 25 ไร่ คือ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง หลุมขุดค้นทางโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีใน และบ้านไทพาน ด้วยเหตุผลที่คนบ้านเชียงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้มีหลักฐาน ชีวิตความเป็นอยู่ ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมของคนยุคนั้น ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้เป็นอย่างดี 



ภาพและข้อมูลจากกรมศิลปากร  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง

image ext
image ext
 

5. กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (Dong Phayayen-Khao Yai Forest Complex)

image ext
image ext
กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (Dong Phayayen-Khao Yai Forest Complex)  จ. สระบุรี นครราชสีมา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ 
ประเภทแหล่งมรดกโลก  ประเภท ธรรมชาติ
ขึ้นทะเบียนปี 2548/2005  
คุณค่าความเป็นสากล 
10 : เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด รวมไปถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีความโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก
ที่ตั้ง  พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 30130


                พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ (Dong Phayayen - Khao Yai Forest Complex) มีพื้นที่รวม 3,846,875 ไร่ หรือ 6,155 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ ประกอบด้วยผืนป่าอนุรักษ์ 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ผืนป่าแห่งนี้มีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งกักเก็บน้ำและเป็นต้นน้ำลำธารที่ไหลหล่อเลี้ยงการดำรงชีวิตของชุมชนต่างๆ ในภูมิภาคโดยรอบ ทั้งแม่น้ำนครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำลำตะคอง แม่น้ำมวกเหล็ก และแม่น้ำมูลต่างมีจุดกำเนิดมาจากพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ทั้งสิ้น โดยได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในปีพ.ศ. 2548 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 29 ณ กรุงเดอร์บัน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ โดยผ่านเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นมรดกโลก คือ เกณฑ์ข้อที่ 10 เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด ซึ่งรวมไปถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่น เชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก


ข้อมูลและภาพกรมศิลปากร


6. กลุ่มป่าแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Forest Complex)

image ext
image ext
กลุ่มป่าแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Forest Complex) จ.ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
มรดกโลก ประเภท ธรรมชาติ
ขึ้นทะเบียนปี 2564/2021  
คุณค่าความเป็นสากล
10 : เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด รวมไปถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีความโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก
ที่ตั้ง. พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี 76170


        พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีขนาดพื้นที่ 1,821,688 ไร่ (2,915 ตร.กม.) เป็นกลุ่มป่าที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรี (Tenasserim Range) ซึ่งทอดตัวตามแนวชายแดนไทย-พม่า เป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำเพชรบุรีและปราณบุรี เป็นพื้นที่ที่หลายเขตภูมิพฤกษ์ เป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญและโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย จนได้รับการประกาศเป็นพื้นที่มรดกแห่งอาเซียน ในปี พ.ศ. 2548 มีสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อยู่หลายชนิด เช่น เสือโคร่ง (Panthera tigris corbetti) และจระเข้น้ำจืด (Crocodylus siamensis) มีรายงานพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากถึง 100 ชนิด นก 545 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 112 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 55 ชนิด และปลา 101 ชนิด
 
          พื้นที่ทั้งกลุ่มป่าประกอบด้วยพื้นที่อนุรักษ์ 4 แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน แต่ทั้งนี้สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย เลือกดำเนินโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพื้นที่ป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเพราะเป็นพื้นที่อนุรักษ์หลักที่มีความสำคัญที่สุดในกลุ่มป่า


ข้อมูลและภาพกรมศิลปากร

7. เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถาน สมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง (The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments)

image ext
image ext
เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถาน สมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง (The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments) จ.เพชรบูรณ์ 
ประเภทแหล่งมรดกโลก วัฒนธรรม (Cultural site)
ขึ้นทะเบียนปี 2566/2023 
คุณค่าความเป็นสากล
2 : แสดงถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือในพื้นที่วัฒนธรรมใดๆ ของโลก ผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมหรือทางเทคโนโลยี อนุสรณ์ศิลป์ การวางผังเมือง หรือการออกแบบภูมิทัศน์
3 : เป็นเอกลักษณ์ที่หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม
ที่ตั้ง
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ 67170
โบราณสถานเขาคลังนอก ศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ 67170
โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ โคกสะอาด อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ 67170


           เมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ จัดอยู่ในบริเวณเขตที่สูง ภาคกลางอันเป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายของการแลกเปลี่ยนสินค้า เส้นทางการค้าและ วัฒนธรรมระหว่างพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องจน ถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 8-18)
 
           เมืองโบราณศรีเทพเป็นเมืองโบราณสำคัญในเส้นทางเครือข่ายทางการค้าและวัฒนธรรมสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แสดงออกถึงภูมิปัญญาในการเลือกสรรชัยภูมิที่ตั้งอันเป็นจุดเชื่อมโยงผสมผสานการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนสินค้าภายในและระหว่างภูมิภาค ที่มีพัฒนามาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทวารวดี และวัฒนธรรมเขมรโบราณ 
 
           เมืองโบราณศรีเทพเจริญรุ่งเรืองอยู่ราว 700 ปี จึงค่อย ๆ ลดความสำคัญลงไปเมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ในห้วงเวลาเดียวกับการล่มสลายของอาณาจักรเขมร พร้อมกับการเกิดศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองใหม่ขึ้นทางตอนเหนือของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่สุโขทัย และในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เมืองโบราณศรีเทพลดบทบาทความสำคัญลง จนกระทั่งถูกทิ้งร้างในที่สุด

                 ลำดับพัฒนาการในแต่ละช่วงสมัยของเมืองโบราณศรีเทพแสดงออกถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในเขตพื้นที่ศูนย์กลางของภูมิภาคตอนในของประเทศไทย ซึ่งเป็นชุมชนหรือเมืองโบราณภายใน (Hinterland) ที่มีความต่อเนื่องทางวัฒนธรรม มีการเลือกสรรพื้นที่ตั้งของชุมชนหรือเมืองที่สามารถควบคุมหรือเชื่อมโยงเครือข่ายการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม หรือเส้นทางการค้าสมัยโบราณระหว่างพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางและที่ราบสูงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้อาจรวมถึงพื้นที่ทางด้านตะวันออกและตะวันตกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วยจึงกล่าวได้ว่าชัยภูมิที่ตั้งของเมืองเป็นจุดสำคัญในเครือข่ายการแลกเปลี่ยนทรัพยากรและการค้าของชุมชนบริเวณใกล้เคียงและภายนอกภูมิภาคมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร ส่งผลให้เกิดพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมในชุมชนและดำรงสถานะเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าและศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งในช่วงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรมศิลปากรตระหนักถึงคุณค่าที่สำคัญดังกล่าว จึงได้ดำเนินการและเตรียมนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เมืองโบราณศรีเทพ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List) ในปีพุทธศักราช 2562

ข้อมูลและภาพจากกรมศิลปากร
 

8. ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period)

image ext
image ext
 ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period) จ.อุดรธานี  
ประเภทแหล่งมรดกโลก วัฒนธรรม (Cultural site)
ขึ้นทะเบียนปี 2567/2024 
คุณค่าความเป็นสากล
3 : เป็นเอกลักษณ์ที่หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม
5 : เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แบบดั้งเดิม การใช้ที่ดิน หรือการใช้ทางทะเล ซึ่งเป็นตัวแทนของวัฒนธรรม (หรือวัฒนธรรมต่างๆ) หรือปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสิ่งแวดล้อมนั้นมีความเปราะบางจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถกลับคืนได้


              อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท  ตั้งอยู่บนภูเขาที่ชื่อว่าภูพระบาท ในเขตพื้นที่เมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ซึ่งเป็นเทือกเขาหินทราย อยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุดรธานี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยปานกลางประมาณ  320 – 350 เมตร สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่ง มีพืชพันธุ์ธรรมชาติประเภทไม้เนื้อแข็งขึ้นปกคลุม
 
              จากการสำรวจทางโบราณคดีที่ผ่านมาได้พบว่าบนภูพระบาทแห่งนี้ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์กำหนดอายุได้ราว 2,500 – 3,000 ปีมาแล้ว ดังตัวอย่างการค้นพบภาพเขียนสีอยู่มากกว่า 54 แห่งบนภูเขาลูกนี้ นอกจากนี้ก็ยังพบการดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมเขมร วัฒนธรรมล้านช้างและรัตนโกสินทร์ตามลำดับ ซึ่งร่อยรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
 
              ด้วยเหตุนี้กรมศิลปากรจึงดำเนินการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติขนาดพื้นที่ 3,430 ไร่ จากกรมป่าไม้ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2524 จากนั้นจึงได้พัฒนาแหล่งจนกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทในที่สุด และได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2535 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด
 
              ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กรมศิลปกร กระทรวงวัฒนธรรม มีโบราณสถานในพื้นที่รับผิดชอบซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 78 แห่ง มีภารกิจหลักในการดูแลรักษา อนุรักษ์และพัฒนา และทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโบราณสถานและโบราณวัตถุที่อยู่ภายในพื้นที่อุทยานฯและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งยังเปิดให้บริการในฐานะแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมสำหรับประชาชนทั่วไป
 
              อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ที่มีจุดเด่นแตกต่างจากแห่งอื่นๆ เนื่องจากโบราณสถานส่วนมากที่พบอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ โดยโครงสร้างแล้วเกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อธรณีสัณฐานของพื้นที่ ต่อมามนุษย์ในอดีตได้เข้ามาดัดแปลงเพื่อสนองต่อวัฒนธรรมในแต่ละช่วงสมัย 

New stories

all : eat | fun | travel | cannabis

Latest view

มีเรื่องอยากเล่า มีร้านอยากอวด มีกิจกรรมเด็ดๆ อยากโปรโมทเชิญชวน ส่งเรื่อง/ภาพมาที่ eatfuntravel.com@gmail.com