Eat Fun Travel Latest view
Thumbnail imgxs

ปีพุทธศักราช 2567 เป็นปีมหามงคลอีกวาระหนึ่งของประเทศไทย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เสมอเมื่อครั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา 5 ธันวาคม 2542 รัฐบาล โดย นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวิสิน) ในนามคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณีหลากหลายกิจกรรม ที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านั้น ตลอดปีพุทธศักราช 2567 รัฐบาลขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยดำเนินการจัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเครื่องราชสักการะ รวมทั้งประดับธงชาติไทย ธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และประดับผ้าระบายสีเหลืองร่วมกับผ้าระบายสีขาว ตามอาคารสถานที่ของหน่วยงานและบ้านเรือน ตามความเหมาะสม ในระยะเวลาขอบเขตการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ตลอดปี 2567

image1
            8 พ.ย.66 เวลา 11.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ครั้งที่ 1/2566 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สาระสำคัญสรุป ดังนี้ 
 
            นายกรัฐมนตรีแจ้งต่อที่ประชุมว่าด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่งรัฐบาลจึงเห็นสมควรดำเนินการจัดงานเฉลิมพระเกียรติให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติทุกประการ ซึ่งการจัดงานจะมีทั้งงานพระราชพิธี งานพิธีการ โครงการและกิจกรรมต่าง ๆ จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ขึ้น ประกอบด้วย คณะกรรมการฝ่ายจัดพิธีการฯ คณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมฯ คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ คณะกรรมการฝ่ายรักษาความปลอดภัยและการจราจรฯ คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกฯ คณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้งบประมาณฯ และคณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์ฯ ซึ่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาแนวทางการดำเนินงานและจะได้มีการนำเสนอให้คณะกรรมการทราบและพิจารณาในวันนี้ต่อไป
 

ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและรับทราบในประเด็นสำคัญ ดังนี้
 
ที่ประชุมรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ประธานวุฒิสภา เป็นที่ปรึกษา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีทุกท่านเป็นรองประธานกรรมการ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการและผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ
 
 
รวมทั้งรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ดังนี้ 
 
            1) คณะกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) เป็นประธานกรรมการ
 
            2) คณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) เป็นประธานกรรมการ
 
            3) คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
 
            4) คณะกรรมการฝ่ายรักษาความปลอดภัยและการจราจรงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานกรรมการ
 
            5) คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานกรรมการ
 
            6) คณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้งบประมาณ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (นางรุ่งรัตนา บุญ-หลง) เป็นประธานกรรมการ
 
            7) คณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายภูมินทร ปลั่งสมบัติ) เป็นประธานกรรมการ
 
            ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการจัดทำตราสัญลักษณ์ และการจัดทำเข็มที่ระลึกพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ  28 กรกฎาคม 2567 และมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป รวมทั้งเห็นชอบการจัดพิธีการต่าง ๆ ของงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ได้แก่ การจัดพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์เพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย การจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล (จัดขึ้นทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และต่างประเทศ) การจัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน (จัดขึ้นทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และต่างประเทศ) พิธีถวายเครื่องสักการะและวางพานพุ่ม (จัดขึ้นทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และต่างประเทศ) การจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาถวายพระราชกุศล (ทุกวัดในไทยและวัดไทยในต่างประเทศ) การจัดพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล (จัดขึ้นทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และต่างประเทศ) การจัดพิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนา (ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) การจัดงานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติ (ทำเนียบรัฐบาล) การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน และมอบหมายให้คณะกรรมการฝ่ายจัดพิธีการฯ ดำเนินการต่อไป
 
            ที่ประชุมเห็นชอบการจัดทำโครงการและกิจกรรมของงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ดังนี้ การจัดทำโครงการและกิจกรรมในนามรัฐบาล ได้แก่ โครงการบรรพชาอุปสมบทถวายพระราชกุศล โครงการจัดสร้างเหรียญที่ระลึก เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โครงการจัดสร้างดวงตราไปรษณียากรที่ระลึก เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โครงการจัดทำธนบัตรที่ระลึก เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 
 
            ที่ประชุมเห็นชอบการจัดทำโครงการและกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติของหน่วยงานภาครัฐ โดยการจัดทำโครงการและกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ของหน่วยงานภาครัฐ ฝ่ายเลขานุการเห็นสมควรมอบให้คณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมฯ รับไปพิจารณาความเหมาะสมของการดำเนินโครงการและกิจกรรม ทั้งนี้ การดำเนินโครงการและกิจกรรมขอให้ใช้งบประมาณของหน่วยงานเจ้าของโครงการและกิจกรรม รวมถึงเห็นชอบการขอใช้ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยหากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ที่มีความประสงค์ขอใช้ตราสัญลักษณ์เพื่อประดับหรือประดิษฐานบนสิ่งของใด ๆ ก็ตาม ให้แจ้งความประสงค์ไปยังคณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์ฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

image ext
image ext
ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ประกอบด้วย

อักษร พระปรมาภิไธย ว.ป.ร. อยู่ตรงกลาง
อักษร วใช้สีขาวนวล สีแห่งวันจันทร์วันพระบรมราชสมภพ ตามคติมหาทักษา
อักษร ป ใช้สีเหลือง วันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ
อักษร ร ใช้สีฟ้า วันพระราชสมภพสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
อยู่บนรูปทรงของเพชร อันหมายถึง พระปรมาภิไธย "มหาวชิราลงกรณ" เพชรสีขาบ (น้ำเงินแก่) อันเป็นสีของขัตติยกษัตริย์

ภายนอกกรอบของเพชร ประกอบด้วยแถบสีเขียว ซึ่งเป็นสีแห่งเดชวันพระบรมราชสมภพ ประดับด้วยเพชร 7 เม็ด หมายถึง พระชนมพรรษา 72 พรรษา

เบื้องบนประดับพระมหาพิชัยมงกุฎ แสดงถึงทรงเป็นพระราชา ธิบดีโดยสมบูรณ์

เบื้องหลังพระมหาพิชัยมงกุฎ ประดิษฐานพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร แสดงถึง พระบรมเดชานุภาพแผ่กระจายไปไกลทั่วทุกหนแห่ง เพื่อปกป้องคุ้มครองและช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ทั่วทั้งแผ่นดิน

ยอดจงกลฉัตรประกอบรูปพรหมพักตร์ ดอกจำปาทองห้อยระบายชั้นล่าง

นพปฎลมหาเศวตฉัตร 8 ดอก หมายถึง พระบารมีแผ่ไปทั่วทั้ง 8 ทิศ

เลข 10 ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ หมายถึง พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

เบื้องล่างปลายแถบแพร เบื้องขวามีรูปคชสีห์กายสีม่วงชมพูประคองฉัตร 7 ชั้น หมายถึงข้าราชการฝ่ายทหาร
เบื้องซ้ายมีรูปราชสีห์กายขาวประคองฉัตร 7 ชั้น หมายถึง ข้าราชการฝ่ายพลเรือน ผู้ปฏิบัติราชการสนองงานแผ่นดิน
เบื้องล่างประกอบด้วยลวดลายพญานาคกายสีเขียวอันแสดงถึงนักษัตรปีมะโรงอันเป็นปี พระบรมราชสมภพ

แพรแถบสีส้มขลิบทองซึ่งเป็นสีแห่งมูละของวันพระบรมราชสมภพ ภายในแพรแถบมีข้อความว่า "พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567"

ใต้อักษรพระปรมาภิไธย ประกอบด้วยตัวเลข 72 หมายถึงพระชนมพรรษา ลวดลายเฟื่องอุบะและลวดลายดอกรวงผึ้ง ดอกไม้ประจำพระองค์มีสีทอง อันหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของประชาชน และประเทศชาติ

ผู้ออกแบบ นายวิริยะ ชอบกตัญญู

New stories

all : eat | fun | travel | cannabis

Latest view

มีเรื่องอยากเล่า มีร้านอยากอวด มีกิจกรรมเด็ดๆ อยากโปรโมทเชิญชวน ส่งเรื่อง/ภาพมาที่ eatfuntravel.com@gmail.com