Eat Fun Travel Latest view Top view
Thumbnail imgxs

งานวันรำลึก พุ่มพวง ดวงจันทร์ ปี 2566 นี้ ครบรอบปีที่ 31 วันที่ 10-18 มิถุนายน 2566 ณ วัดทับกระดาน ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เช่นเดิม พิธีทำบุญตักบาตร และพิธีทอดผ้าป่าเพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้กับพุ่มพวง ดวงจันทร์ การแสดงของเหล่าศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียงกว่า 300 คน และการจัดจำหน่ายคาราวานสินค้าต่างๆ การแสดงคอนเสิร์ต 9 วัน 9 คืน จัดยิ่งใหญ่กว่าทุกปี พบกับ อภิมหาคอนเสิร์ตลูกทุ่ง ดารา นักร้อง ศิลปินรับเชิญชื่อดัง ตลก ลิเก ภาพยนตร์ มิตรรัก แฟนเพลง พุ่มพวง ดวงจันทร์ พร้อมกันทั่วประเทศ

image1
 

ประวัติพุ่มพวง ดวงจันทร์

image ext
image ext
 พุ่มพวง ดวงจันทร์ (4 สิงหาคม พ.ศ. 2504 – 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535) เป็นชื่อการแสดงของ รำพึง จิตรหาญ ชื่อเล่น ผึ้ง เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งชาวไทย ได้รับฉายาว่าเป็น "ราชินีลูกทุ่ง"
 
เธอเกิดที่จังหวัดชัยนาท ต่อมาเติบโตที่ จังหวัดสุพรรณบุรี ครอบครัวเป็นชาวไร่ฐานะยากจน เมื่ออายุได้ 15 ปี บิดาฝากให้เป็นบุตรบุญธรรมของไวพจน์ เพชรสุพรรณ ซึ่งแต่งเพลงและอัดแผ่นเสียงชุดแรกชื่อ "แก้วรอพี่" ก่อนจะมีชื่อเสียงทั้งในวงการร้องเพลงและแสดงต่อมา
 
 
 
เส้นทางนักร้อง
 
เธอเริ่มหัดร้องเพลงและเข้าประกวดตามงานต่าง ๆ ตั้งแต่อายุ 8 ปี โดยใช้ชื่อว่า น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย
 
ในปี พ.ศ. 2519 ครูเพลงลูกทุ่ง มนต์ เมืองเหนือ รับเธอเป็นลูกศิษย์ และเปลี่ยนชื่อจากน้ำผึ้ง เมืองสุพรรณเป็น "พุ่มพวง ดวงจันทร์" จากการตั้งชื่อโดย มนต์ เมืองเหนือ และได้บันทึกเสียงจากการแต่งของก้อง กาจกำแหง ร้องแก้ ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด​เพลงนั้นคือ "รักไม่อันตราย" และตั้งวงดนตรีเป็นของตนเอง โดยการสนับสนุนของคารม คมคาย นักจัดรายการวิทยุ มนต์ เมืองเหนือแต่ไม่ประสบความสำเร็จก็มาสังกัดบริษัทเสกสรรเทป-แผ่นเสียงผลงานของพุ่มพวง ดวงจันทร์เริ่มประสบความสำเร็จในเวลาต่อมาหลังจากได้รับการสนับสนุนจากประจวบ จำปาทองและปรีชา อัศวฤกษ์นันท์ให้ตั้งวงร่วมกับเสรี รุ่งสว่าง ในชื่อวง เสรี-พุ่มพวง จากจุดนี้ก็ได้รับความสำเร็จขึ้น
 
พุ่มพวง ดวงจันทร์ เข้ามาอยู่สังกัดอโซน่า โปรโมชั่น ในปี พ.ศ. 2525 ผลงานในระหว่างปี 2525-2529 ของเธอมีมากมายเช่น จะให้รอ พ.ศ.ไหน (มิ.ย. 2525) ดวงตาดวงใจ (2525) สาวนาสั่งแฟน (2526) นัดพบหน้าอำเภอ (2526) ทิ้งนาลืมทุ่ง (2527) คนดังลืมหลังควาย (2528) อื้อฮื้อ ! หล่อจัง (2528) ห่างหน่อย – ถอยนิด (2529) ชั่วเจ็ดที-ดีเจ็ดหน (2529) และเรื่องของสัตว์โลก (2529) ซึ่งสองชุดหลังเป็นชุดที่ออกหลังที่พุ่มพวงออกจากค่ายอโซน่า โปรโมชั่นแล้ว โดยส่วนมากผลงานของพุ่มพวงในช่วงเวลาดังกล่าวมักประพันธ์โดยลพ บุรีรัตน์
 
ต่อมาย้ายมาอยู่กับพีดี โปรโมชั่น และ ซีบีเอส เร็คคอร์ด (ประเทศไทย) และอาจารย์ไพจิตร ศุภวารีได้เปลี่ยนภาพลักษณ์พุ่มพวงให้เข้ากระแสนิยมของเพลงสตริงในยุคนั้น มีผลงานอัลบั้มเช่น ตั๊กแตนผูกโบว์ และ ทีเด็ดพุ่มพวง แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับของนักฟังเพลงลูกทุ่ง จึงได้ย้ายไปทำงานร่วมกับมิวสิคไลน์ มีผลงานอัลบั้มที่ได้รับความนิยมมากมายเช่น กล่อม, อันตราย, พุ่มพวง 31 (หนูไม่รู้), พุ่มพวง 31 ภาค 2 (หนูไม่เอา), พุ่มพวง 32 (พี่ไปดู หนูไปด้วย) ต่อมาได้ย้ายไปทำงานร่วมกับท็อปไลน์ มีผลงานอัลบั้มเช่น พุ่มพวง 32 ภาค 2, ขอให้รวย และนำผลงานเก่ามาขับร้องใหม่เช่น พุ่มพวงหลาย พ.ศ. (ตลับทอง และตลับเพชร), น้ำผึ้งเดือนห้า, ซูเปอร์ลูกทุ่งท็อปฮิต 1 - 6 จากนั้นเธอเริ่มรับจ้างทำงานให้กับอาร์เอส โปรโมชั่น เมโทรเทปและแผ่นเสียง และแฟนตาซี ไฮคลาส สำหรับผลงานกับค่ายอาร์เอส เช่น ลูกทุ่งท็อปฮิตมาตรฐาน เป็นผลงานอัลบั้มที่เธอนำเพลงดังของศิลปินลูกทุ่งดังในอดีตมาร้องใหม่ นอกจากนี้ยังมีค่ายเมโทรฯ ที่ได้ลิขสิทธิ์งานเพลงชุด "ส่วนเกิน" อีก 1 ชุด
 
พุ่มพวงเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2526 และแสดงหนังเรื่องแรก สงครามเพลง สร้างโดยฉลอง ภักดีวิจิตร และอีกหลายเรื่อง ในช่วงที่แสดงภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักนักเพลง ได้พบกับ (ไกรสร แสงอนันต์) ผลงานการแสดงของเธอในฐานะนางเอก อย่างเช่น สงครามเพลง, รอยไม้เรียว, ผ่าโลกบันเทิง, นักร้อง นักเลง, นางสาวกะทิสด, มนต์รักนักเพลง, ลูกสาวคนใหม่, อีแต๋น ไอเลิฟยู, หลงเสียงนาง, จงอางผงาด, ขอโทษทีที่รัก, คุณนาย ป.4, อาจารย์เด๋อเจอพุ่มพวง, สาวนาสั่งแฟน, เสน่ห์นักร้อง, นางสาวยี่ส่าย (ภาพยนตร์โทรทัศน์) เป็นต้น
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2532 พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี​อีกครั้ง ในสาขารางวัลขับร้องเพลงดีเด่น กับเพลง "สยามเมืองยิ้ม" ประพันธ์โดยครูลพ บุรีรัตน์ ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่ง ภาค 2
 
 
การเสียชีวิต
 
เธอห่างหายไปหลังปลายปี พ.ศ. 2534 เนื่องจากเธอป่วยด้วยโรคเอสแอลอี โดยเธอพำนักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช และที่จันทบุรี ในช่วงวาระสุดท้ายเธอย้ายมาพำนักอยู่ที่บ้านพักของน้องสาว (สลักจิต ดวงจันทร์) ที่พุทธมณฑลสาย 2 เนื่องจากเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 เธอจึงตัดสินใจเดินทางไปเชียงใหม่เพื่อไปเยี่ยมบุตรชายทั้งที่อาการของเธอแย่มากแล้ว ทุกคนต่างทำใจไว้ว่าเธอคงจะไม่รอดแล้ว และระหว่างทางเกิดอาการกำเริบจึงนำตัวส่งโรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก และเสียชีวิตในคืนวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 เวลา 21:30 น. ด้วยวัยเพียง 30 ย่าง 31 ปี พิธีรดน้ำศพของเธอถูกจัดขึ้นที่วัดมกุฏกษัตริยารามเมื่อเย็นวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2535 และพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 ณ วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพครั้งนี้
 
ภาพ Timekeepertmk - wikipedia 

ประวัติวัดทับกระดาน

     พระใบฎีกาสุพจน์ ฐิตาโภ เจ้าอาวาสวัดทับกระดาน เลขที่ 13 ถนนสายสองพี่น้อง-พระแท่นดงรัง หมู่ 2 ต.บ่อสุพรรณ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เล่าประวัติความเป็นมาของคำว่าตำบล “บ่อสุพรรณ” ที่ชาวบ้านเรียกกันมาตั้งแต่ดั้งเดิมสมัยปู่ย่าตายาย นั้นเข้าใจว่า เมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 เสด็จประพาสเมืองสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งตรงกับฤดูแล้ง จึงได้มีการขุดสระน้ำไว้ใกล้กับศาลาที่ประทับพักแรม จนต่อมาชาวบ้านจึงเรียกสระน้ำนี้ว่า บ่อสุพรรณ ปัจจุบันศาลาที่ประทับ ยังมีให้เห็นอยู่ที่ หมู่ 16 บ้านบ่อสุพรรณนั่นเอง

 
วัดทับกระดาน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี 
     พระใบฎีกาสุพจน์ ฐิตาโภ เปิดเผยว่า เมื่อ พ.ศ.2473 วัดทับกระดาน เดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์ อยู่ห่างจากที่ตั้งวัดทับกระดานลงไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร เดิมเลยทีเดียวบ้านทับกระดานนั้นมีชื่อว่า บ้านทัพกันดาร เนื่องจากมีผู้คนอยู่น้อย ไม่มีถนน การสัญจรไปมาไม่สะดวก ต้องเดินเท้า ใช้ วัว ควาย เป็นพาหนะ มีเงินทองก็ไม่รู้ว่าจะไปซื้อของกินได้ที่ไหน แม้แต่กล้วยน้ำว้าก็ไม่มีขาย สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นป่าทึบ ถ้าจะเดินทางมาติดต่อราชการที่ อ.สองพี่น้อง ใช้เวลา 2 วัน
 
วัดทับกระดาน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี (พุ่มพวง ดวงจันทร์)
     ต่อมา ปู่บุญ ดอกไม้หอม และ ปู่เสาร์ โภคา พร้อมชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจบริจาคทรัพย์ก่อสร้างวัดทัพกันดาร และเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ให้เพื่อเป็นสิริมงคลเป็นวัดทับกระดาน ในปี พ.ศ.2476 บนเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ มี กุฏิพระสงฆ์ เป็นเพียงกระต๊อบเล็กๆ 2-3 หลัง หลังคามุงด้วยแฝก ต่อมาในปี พ.ศ.2484 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวบ้านจึงอพยพและย้ายวัดทับกระดานมาสร้างในพื้นที่ใหม่คือตั้งอยู่ในปัจจุบัน เจ้าคณะหมวดคือ หลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก ได้ให้ พระแหวว เพียง 1 รูปเดียว มาอยู่ที่วัด และรักษาการเจ้าอาวาส ได้ 1 พรรษา ก็ลาญาติโยมกลับวัดทุ่งคอก วัดจึงขาดพระ
 
     ต่อมาชาวบ้านจึงได้นิมนต์ หลวงพ่อบวช ตุลายโก ซึ่งเป็นบุตรของ ปู่บุญ-ย่าเล็ก ดอกไม้หอม ที่บวชเมื่อ พ.ศ.2480 ที่วัดทุ่งคอก โดยมีพระครูอภัยภาดารักษ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ชั้ว หรือพระครูสังฆรักษ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก หรือพระครูสุวรรณสาธุกิจ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังบวชแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดทับกระดาน 2 พรรษา ต่อจากนั้นไปศึกษาเล่าเรียนธรรมะที่วัดในจังหวัดเพชรบุรี 3 ปี และเป็นครูสอนพระนักธรรมที่วัดในจังหวัดสมุทรคราม 5 ปี เมื่อปี พ.ศ.2490 ท่านเดินทางกลับมาเยี่ยมญาติโยมที่บ้าน ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันกราบนิมนต์ให้ท่านช่วยดูแลพัฒนาวัดทับกระดานให้เจริญรุ่งเรือง ตอนนั้นซึ่งมีเพียงกุฏิสงฆ์เป็นเพียงกระต๊อบเล็กๆ 2-3 หลัง หลังคามุงด้วยแฝก บนเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ จนกระทั่งปี พ.ศ.2497 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดทับกระดานอย่างเป็นทางการ
วัดทับกระดาน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี (พุ่มพวง ดวงจันทร์)
 
     หลวงพ่อบวช ท่านได้นำชาวบ้าน บุกเบิก ที่รกร้าง ถางป่า พัฒนาก่อสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ หอระฆัง เมรุสถาน ห้องน้ำพระ โรงเรียน จนถึงพระอุโบสถ และได้จัดให้มีพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2517 ในปี พ.ศ.2519 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลบ่อสุพรรณ ปี พ.ศ.2520 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และในปี พ.ศ.2522 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครู ชั้นสัญญาบัตร โดยได้ทินนามสมศักดิ์ว่า พระครูสุธรรมรัต
 
     ตลอดระยะเวลา 46 ปี ที่พระครูธรรมรัต หรือหลวงพ่อบวช ตุลายโก เจ้าคณะตำบลบ่อสุพรรณ เป็นเจ้าอาวาสวัดทับกระดาน ต.บ่อสุพรรณ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี พัฒนาบนเนื้อที่ 83 ไร่ วัดทับกระดาน อย่างไม่หยุดยั้ง ควบคู่กันไปกับการอบรมจิตใจชาวบ้านทับกระดาน ให้ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นคนดี ที่สำคัญหลวงพ่อบวช ท่านได้เป็นศูนย์รวมจิตใจให้ชาวบ้านทับกระดานทุกคน มีความรักความสามัคคี และร่วมแรงร่วมใจกันในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ก่อนที่ท่านจะมรณภาพลงด้วยโรคมะเร็งตับ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2535 เมื่อเวลา 22.39 น.
 
     ส่วนประวัติความเป็นมาเรื่องวัตถุมงคลหรือของขลัง ของพระครูธรรมรัต หรือหลวงพ่อบวช ตุลายโก ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ สายหลวงพ่อเนียม วัดน้อย และลูกศิษย์หลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก เรียกได้ว่าท่านร่ำเรียนวิชาอาคมได้อย่างแตกฉาน จนเก่งกล้า จนมีชื่อเสียงโด่งดังมาก เมื่อปี พ.ศ.2513 หลวงพ่อบวช ได้ทำพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเหรียญรุ่นแรก ซึ่งเป็นเหรียญที่มีพิธีปลุกเสกรวม 9 วัน 9 คืน เป็นพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่มาก โดยมีคณาจารย์เก่งๆ ดังๆ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคสมัยนั้นมานั่งภาวนา นั่งปรก กันมากอย่างเนืองแน่น อาทิ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ หลวงปู่นาค วัดระฆัง หลวงพ่อคำ วัดหน่อพุทธางกูร หลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลยก์ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม หลวงน้อย วัดธรรมศาลา หลวงพ่อแต้ม วัดพระลอย พระอาจารย์เชื้อ หนูเพชร วัดสะพานสูง และคณาจารย์อีกมากมายหลายสิบท่าน
 
วัดทับกระดาน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี (พุ่มพวง ดวงจันทร์)    ชาวบ้านใกล้ไกลจึงต่างให้ความเคารพ และนับถือท่านเป็นอย่างมาก จนมีเรื่องเล่าลือกันปากต่อปาก จากเหนือสู่ใต้ว่า หลวงพ่อบวชท่านปากพระร่วง ท่านมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์และอภินิหารต่างๆ มากมาย เป็นอเนกประการเหนือจะคณานับ หลวงพ่อบวชมักมีเรื่องอัศจรรย์ปรากฏอภินิหารแสดงให้เห็นแก่ชาวบ้านทั่วไป เช่น คนกำลังมีเคราะห์ร้าย เมื่อมากราบไหว้รูปเหมือนท่านก็มักจะปิดทองไม่ติด ส่วนน้ำมนต์และน้ำมันมนต์ ของหลวงพ่อบวช ท่านรักษาโรคภัยต่างๆ ได้สมใจนึกปรารถนา เหรียญเหมือนหลวงพ่อบวชรูปไข่ ท่านก็สามารถช่วยให้รอดพ้นจากภัยพิบัติ ภยันตรายต่างๆ ได้ เช่น ป้องกันไฟไหม้บ้าน ป้องกันลมพายุยามเมื่อฝนตกฟ้าคะนอง เพียงตั้งจิตอธิษฐานถึงหลวงบวช ก็สามารถรอดพ้นจากคมหอกคมดาบ งูเงี้ยวเขี้ยวขอ ตลอดจนคมเขี้ยวของสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ ได้

ข้อมูลจากเพจพระเครื่อง สันขวาน

New stories

all : eat | fun | travel | cannabis

Latest view

มีเรื่องอยากเล่า มีร้านอยากอวด มีกิจกรรมเด็ดๆ อยากโปรโมทเชิญชวน ส่งเรื่อง/ภาพมาที่ eatfuntravel.com@gmail.com