Eat Fun Travel Latest view
Thumbnail imgxs

งานช้างสุรินทร์ ประจำปีอันยิ่งใหญ่ความภูมิใจของจังหวัดสุรินทร์ จัดเป็นงานใหญ่ระดับประเทศอีกงานที่ต้องบันทึกลงปฏิทินท่องเที่ยวที่คนไทยต้องไปเยือนไปชมสักครั้งในชีวิิต และปัจจุบันกำลังยกระดับขึ้นเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้นในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะชาวเอเซียด้วยกันเริ่มให้ความสนใจและได้รับความนิยมมากขึ้น จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาร่วมชมงานในปีที่ผ่านมา นั่นคือ มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ ปี 2566 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-27 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ในงานโชว์ความอลังการ การแสดงแสงสีเสียง ขบวนแห่ช้างสุดยิ่งใหญ่ในบริเวณกลางเมืองสุรินทร์ มีพิธีต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมกับความสนุกสนานจากกิจกรรมความบันเทิงตลอด 12 วัน 12 คืน

 

งานช้างสุรินทร์ที่ผ่านมา

 

งานมหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ ประจำปี 2566 วันที่ 16 - 27 พ.ย. 2566

image ext
image ext
งานมหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ ประจำปี 2566 วันที่ : 16 - 27 พ.ย. 66 สถานที่ : สนามกีฬาศรีณรงค์ และสนามแสดงช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ งานมหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 16 - 27 พ.ย. 2566 ชมงานแสดงช้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกในวันเสาร์ที่ 18 และวันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2566 พร้อมชมความอลังการของการประกวดขบวนรถอาหารช้าง งานต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้าง งานแสดงช้าง แสงสีเสียง กว่า 300 เชือกที่ยิ่งใหญ่ตระการตา

งานมหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ ประจำปี 2565

image ext
image ext
งานมหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ ประจำปี 2565 สนามกีฬาศรีณรงค์และสนามแสดงช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ปราสาทศีขรภูมิ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย
1. การเลี้ยงอาหารช้างหรือการเลี้ยงโต๊ะจีนช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดขึ้นในวันก่อนที่จะมีการแสดงช้าง โดยจังหวัดจะจัดโต๊ะยาวไปตามแนวริมฟุตบาทความยาวประมาณ 500 เมตร เพื่อวางอาหารช้าง และให้ควาญช้างทุกเชือกพาช้างเข้ามากินพืชผักที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์   
2. การแสดงของช้าง ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของงาน รายการแสดงของช้าง ประกอบด้วยรายการต่างๆ ได้แก่ขบวนช้างพาเหรด ช้างปฏิบัติตามคำสั่งช้างแสนรู้ ช้างวิ่งเร็ว ช้างวิ่งข้ามคน ช้างเตะฟุตบอล และขบวนช้างศึก      ซึ่งการแสดงช้างจะจัด 2 วันในวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี ซึ่งเป็นการแสดงที่รวบรวมช้างไว้มากที่สุดถึง 200 เชือก ณ สนามแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งจะจัดในเวลา 08.00-12.00 น. นับเป็นการแสดงที่น่าชมเป็นอย่างยิ่ง และมีผู้ชมเข้าชมเต็มทุกที่นั่งทุกปี
3. การนั่งช้างชมเมือง ในช่วงเทศกาลดังกล่าว จะมีการจัดช้างไว้บริการแก่ผู้สนใจการนั่งช้างชมเมือง โดยควาญช้างจะพานั่งช้างชมเมืองสุรินทร์ ในจุดต่าง ๆ ที่กำหนดจะมีท่าเทียบไว้ให้ผู้สนใจสามารถขึ้นลงช้างได้อย่างสะดวก
4. การนั่งช้างเข้าเมือง เป็นกิจกรรมการนั่งช้างเข้าเมืองสุรินทร์โดยให้หัวหน้าส่วนราชการ แขกผู้มีเกียรติ และผู้ที่สนใจ สามารถแจ้งความจำนงนั่งช้างเข้าเมือง โดยจะจัดในวันที่มีการเลี้ยงโต๊ะจีนช้าง ซึ่งเมื่อช้างเข้าเมืองเรียบร้อยแล้วก็จะเป็นการเลี้ยงอาหารช้างต่อไป
5. การออกร้านของสภากาชาด ส่วนราชการ ภาคเอกชน ร้านค้าต่าง ๆ 
 

มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ ประจำปี 2564 วันที่ 15-26 ธันวาคม 2564

image ext
image ext
งาน มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ ประจำปี 2564  จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15-26 ธันวาคม 2564 ณ สนามแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์ ตำบลนอกเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์  กำหนดการ 15-26 ธันวาคม  งานช้างแฟร์และกิจกรรมที่เวทีกลางทุก 24 ธันวาคม  เวลา 8.00 น. งานต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้าง 25-26 ธันวาคม เวลา 8.45 น. งานแสดงช้าง เวลา 19.00 น. งานแสดงช้างแสงสีเสียง

ย้อนอดีตชาวกูย สู่ความเป็นเมืองช้างสุรินทร์

image ext
image ext
      ย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 200 กว่าปีที่ผ่านมาในสมัย สมเด็จพระที่นั่งสุริยาอมรินทร์ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่ง กรุงศรีอยุธยา ช้างเผือกสำคัญแตกโรงหนีเข้าป่ามาทางเมือง พิมาย พระองค์จึงโปรดฯ ให้ทหารออกติดตาม จนกระทั่ง ถึงเขตที่ชุมชนชาวกูย (กวย) อาศัยอยู่ ซึ่งชาวกวยกลุ่มนี้เป็น พวกที่มีความชำนาญในการคล้องช้างและจับช้างอย่างยิ่ง ในที่สุดก็สามารถติดตามช้างเผือกจนพบและนำกลับสู่ กรุงศรีอยุธยา ความดีความชอบในครั้งนั้น ส่งผลให้หัวหน้าชาวกูย ที่เป็นคณะติดตามช้างได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์
 
        พร้อมกับโปรดฯ ยกบ้านให้เป็นเมืองและหนึ่งในบรรดาหัวหน้าชาวกูยก็คือ “เชียงปุม” ซึ่งได้ รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงสุรินทร์ภักดี” และต่อมา ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์ จางวาง” ผู้เป็นเจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดสุรินทร์
 
        จากอดีตสู่ปัจจุบันลูกหลานชาวกูยยังคงสืบทอดมรดกอันล้ำค่าจาก บรรพบุรุษ นั่นคือ “การคล้องช้าง” และการเลี้ยงช้างเสมือนหนึ่งสมาชิก ในครอบครัว ทำให้ชาวกูยแห่งเมืองสุรินทร์มีความผูกพันแนบแน่น กับสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในโลกนามว่า “ช้าง” เป็นเวลาช้านาน
 
       ปี 2498 ถือว่าเป็นปีแห่ง การชุมนุมช้างของชาวกูยอย่าง ไม่ได้ตั้งใจ ก็ว่าได้ ซึ่งการชุมนุมช้างในครั้งนั้น เกิดจากข่าวที่ว่าจะมีเฮลิคอปเตอร์ มาลงที่บ้านตากลาง (เป็นหมู่บ้านของชาวกูย เลี้ยงช้าง ตั้งอยู่ที่ตำบล กระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์) ชาวบ้านจึงชักชวนกันไปดู ในสมัยนั้นพาหนะที่ใช้กันโดยทั่วไปของชาวกูยก็คือช้างซึ่งถูกฝึกมา เป็นอย่างดี แต่ละคนแต่ละครอบครัวก็พากันนั่งช้างมาดูเฮลิคอปเตอร์ พอไปถึงจุดที่เฮลิคอปเตอร์จอด ปรากฏว่าช้างที่ไปรวมกันนั้นนับได้กว่า 300 เชือก ทำเอาคนที่มากับเฮลิคอปเตอร์ตกใจและแปลกใจมากกว่า ชาวบ้านเสียอีก
 
         เหตุการณ์ชุมนุมช้างอย่างไม่ได้ตั้งใจในปี 2498 ทำให้ผู้คนที่ทราบข่าวต่างพากัน สนใจกันเป็นจำนวนมาก และในปี 2503 อำเภอท่าตูม ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านช้างได้มีการ เฉลิมฉลองที่ว่าการอำเภอใหม่ นายวินัย สุวรรณประกาศ ซึ่งเป็นนายอำเภอในขณะนั้นได้เชิญ ชวนให้ชาวกูยเลี้ยงช้างทั้งหลาย ให้นำช้างของตนมาจัดแสดงให้ประชาชนได้ดูได้ชมกัน เนื่องจากไม่สามารถจะไปคล้องช้างตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาได้อย่างเคย อันเนื่องมาจาก ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ
 
         การแสดงในครั้งนั้นด้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะมีการแสดงคล้องช้างให้ดูแล้ว ยังมีการเดินขบวนแห่ช้าง การแข่ง วิ่งช้าง และในกลางคืนก็ได้มีงานรื่นเริง มีมหรสพต่างๆ ตลอดคืน ซึ่งใครจะคาดคิดว่าจากงานเฉลิมฉลองที่ว่าการอำเภอเล็กๆ แห่งหนึ่ง ในถิ่นทุรกันดารของภาคอืสานเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2503 จะกลายมาเป็นงานประเพณีของชาติที่โด่งดังไปทั่วโลก
 
นับต่อเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน ประเพณีการแสดงของช้างได้ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลา ร่วม 50 ปี แล้ว   ถ้าเป็นคนก็ถือว่าย่างเข้าสู่วัยชราก็ไม่ผิดเท่าใดนักสุรินทร์ จังหวัดที่เคย เงียบเหงาในอดีต ได้ถูกชาวกวยและช้างสร้างให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่างน่าภาค ภูมิใจ วีรกรรมของชาวกูยปัจจุบันไม่ได้แตกต่างจากบรรพบุรุษเลยแม้แต่น้อย...
 
...สุรินทร์เมืองที่สร้างจากกวย (กูย) รวยเพราะช้าง...  [kradandum.com ข้อมูลและภาพ]

 

ความเป็นมาของงานแสดงช้างสุรินทร์

     บริเวณตอนเหนือของจังหวัดสุรินทร์ในแถบตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม และตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี เป็นถิ่นที่อยู่ของชนพื้นเมืองชาว “กวย” หรือ “ส่วย” นิยมเลี้ยวช้างมาแต่โบราณกาล เพื่อนำไปใช้ในงานและพิธีต่าง ๆ โดยเฉพาะที่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดสุรินทร์ประมาณ 58 กิโลเมตร ชาวบ้านนิยมเลี้ยงช้างไว้เป็นจำนวนมาก จนมีผู้รู้จักบ้านตากลางในนามของหมู่บ้านช้าง หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ใกล้กับลำน้ำมูลและลำน้ำชี เดิมพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่า มีความอุดมสมบูรณ์มาก

     เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2503 นายวินัย สุวรรณกาศ นายอำเภอท่าตูม ได้จัดงานแสดงช้างขึ้นที่บริเวณสนามบินเก่า อำเภอท่าตูม (ที่ตั้งโรงเรียนท่าตูมประชาเสริมวิทย์ในปัจจุบัน) เพื่อเฉลิมฉลองที่ว่าการอำเภอหลังใหม่ ในงานมีการแสดงขบวนแห่ช้าง การแข่งขันช้างวิ่งเร็ว การคล้องช้าง ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก มีการแพร่ภาพประชาสัมพันธ์ทั้งทางหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ทำให้ชาวไทยและชาวต่างประเทศเกิดความสนใจเป็นอย่างมาก ในปีต่อมา อสท.(ททท.) จึงได้เข้ามาให้การสนับสนุน โดยร่วมกำหนดรูปแบบของการแสดง และนำนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาชมการแสดง
 
      ในปี พ.ศ. 2505 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้การจัดงานช้างเป็นงานประจำปีของชาติ และให้ส่วนราชการต่าง ๆ สนับสนุน นายคำรณ สังขกร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ในสมัยนั้น พิจารณาเห็นว่า การจัดงานที่อำเภอท่าตูมไม่สะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยวจึงได้ย้ายสถานที่จัดงานมาจัดงานที่สนามกีฬาจังหวัดตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน [go to know]

ศูนย์คชศึกษา (หมู่บ้านช้าง)

       จังหวัดสุรินทร์ เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ของนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศในนาม “ สุรินทร์ เมืองช้าง “ สืบเนื่องมาจากสุรินทร์มีกลุ่มผู้เลี้ยงช้างที่เรียกตัวเองว่า “ กูย “หรือ “ กวย “ ซึ่งมีความชำนาญในการจับช้างมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ได้ใช้ภูมิปัญญาวิชาคชศาสตร์จับช้างเผือกซึ่งแตกโรงจากกรุงศรีอยุธยา นำน้อมเกล้าฯถวายคืนสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 จนได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ปกครองเมืองสุรินทร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2302 เป็นต้นมา และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือหมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ตั้งอยู่ใกล้ที่ราบริมฝั่งแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าละเมาะสลับป่าโปร่ง เหมาะแก่การเลี้ยงช้าง โคและกระบือ เป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพเลี้ยงช้างเสริมอาชีพหลักในการทำนา ทำไร่ และเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านซึ่งแต่เดิมแทบทุกหลังเรือน จะเลี้ยงช้างไว้อย่างน้อยครัวเรือนละ 1 เชือก จนเป็นที่รู้จักกันในนาม “ หมู่บ้านช้าง ”
 
        นับเป็นอีกจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์นั้นก็คือ วัฒนธรรมของการอยู่รวมกันของคนกับช้างซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแห่งเดียวในโลกของทางจังหวัดสุรินทร์ “ศูนย์คชศึกษา”หรือ ”หมู่บ้านช้าง “เป็นศูนย์รวมของสมาชิกชุมชนคนเลี้ยงโดยรอบและหมู่บ้านอื่นๆในจังหวัดสุรินทร์ ภายในบริเวณมีศูนย์คชศึกษามีอาคารพิพิธภัณฑ์ สถานที่แสดงเรื่องราวความรู้ต่างๆที่เกี่ยวกับช้าง จัดแสดงประเพณีและวัฒนธรรมรวมไปถึงเครื่องแต่งกายต่างๆของชาวกูย บรรพบุรุษของผู้คนจังหวัดสุรินทร์ที่มีวิถีชีวิตความผูกพันเคียงคู่ช้างตั้งแต่แสดงวิถีความผูกพันระหว่างคนกับช้างที่มีมาอย่างช้านาน ตั้งแต่เกิดจนตาย
 
      และยังมีลานจัดแสดงช้างให้นักท่องเที่ยวได้ชม ความสามารถที่ชาญฉลาดของสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีทั้งความน่ารักและแสนรู้ ทั้งยังได้เห็นถึงการร่วมมือของคนกับช้างในการแสดงด้วยสร้างความประทับใจของผู้ชมได้ทุกรอบการแสดง ในบริเวณใกล้เคียงมีหมู่บ้านชาวกูย ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชิวิตการเลี้ยงช้าง และยังมีร้านขายของที่ระลึกวัตถุมงคลที่ได้จากส่วนประกอบของช้าง เช่นงาและกระดูกช้างอีกด้วย รวมถึงมีศาลประกำอันศักสิทสิทธิ์ เทวาลัยที่สิงสถิทของวิญญาณบรรพบุรุษและผีประกำ ตามความเชื่อของชาวกุย เป็นที่เก็บรักษาหนังประกำและอุปกรณ์ในการคล้องช้างเป็นสถานที่ขอพรและเสี่ยงทายของชาวกุยก่อนทำกิจกรรมนั้นๆ  [Surin Guide]

ศูนย์คชศึกษาตั้งอยู่ที่
บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ 32120
โทรศัพท์ : 044-145050  044-511975

New stories

all : eat | fun | travel | cannabis

Latest view

มีเรื่องอยากเล่า มีร้านอยากอวด มีกิจกรรมเด็ดๆ อยากโปรโมทเชิญชวน ส่งเรื่อง/ภาพมาที่ eatfuntravel.com@gmail.com