Eat Fun Travel Latest view
Thumbnail imgxs

สงกรานต์พระประแดง หนึ่งในงานสงกรานต์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ สืบสานอนุรักษ์ประเพณีชาวไทยรามัญ ในปีนี้ 2566 กำหนดจัดวันที่ 21-23 เมษายน 2566 ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม ชุมชน/หมู่บ้านชาวรามัญภายในเขตเทศบาลเมืองพระประแดง จ.สมุทรปราการ

image1


กิจกรรมในงาน
- การประกวดนางกรานต์ และหนุ่มลอยชาย
- พิธีสรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำขอพรผู้ใหญ่
- การกวนกาละแม 
- การเล่นสะบ้า (สะบ้าบ่อน สะบ้าทอย)
- การแสดงทะแยมอญ ของชาวไทยรามัญ
- ขบวนแห่รถนางสงกรานต์ ขบวนรถบุปผาชาติ
- ขบวนแห่นก แห่ปลา 
- การแสดงแสงสี ณ โบราณสถานป้อมแผลงไฟฟ้า
- การเล่นน้ำสงกรานต์
- ชมการแสดงบนเวที
- เลือกซื้ออาหารพื้นบ้าน และอาหารอร่อย
 
 
เทศบาลเมืองพระประแดง เจ้าภาพการจัดงาน ได้มีการวางแผนการจัดงานเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในหลายด้าน ทั้งการจราจร การเฝ้าระวังเหตุการณ์ต่างๆ จากกลุ่มมิจฉาชีพ การป้องกันการทะเลาะวิวาท  การจัดเตรียมพิธีขบวนแห่นางสงกรานต์ การจัดประกวดหนุ่มลอยชาย และการละเล่นพื้นเมืองสะบ้ารามัน และกิจกรรมอื่นๆ 
 
นางสาวจิระพร วชิรเขื่อนขันธ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองพระประแดง กล่าวในโอกาสประชุมการจัดงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2566 ว่า หลังจากเว้นวรรคจากการจัดการงานสงกรานต์พระประแดง ไปนานเกือบ 3 ปี จากสถานการณ์โควิด งานประเพณีสงกรานต์พระประแดงในปีนี้ คาดว่ามีประชาชนชาวอำเภอพระประแดง นักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติ ร่วมงานประเพณีสงกรานต์พระประแดงเป็นจำนวนมาก จะนำเงินสะพัดภายในพื้นที่พอสมควร จึงขอเชิญชวนเดินทางมาเที่ยวชมงานสงกรานต์พระประแดง เพื่อสืบสานอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่ เป็นที่ภาคภูมิใจแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป 
 
กำหนดการกิจกรรมสำคัญๆ อาทิ วันที่ 21 เมษายน 2566 ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ชมการประกวดนางสงกรานต์พระประแดงและหนุ่มลอยชาย ณ เวทีประกวดหน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง ส่วนวันที่ 23 เมษายน  2566 เวลา 14.00 น. ชมพิธีเปิดงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ขบวนแห่นางสงกรานต์และขบวนรถบุปผาชาติที่สวยงามตระการตา ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอเมืองพระประแดง ชมพิธีปล่อยนก ปล่อยปลา ณ พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม ตลอดงานชมการละเล่นพื้นเมือง (สะบ้ารามัญ) ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า และหมู่บ้านรามัญ การแสดงทะแยมอญ การกวนกาละแมของดีเมืองพระประแดง
 
 
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง เดิมเรียกว่า สงกรานต์ปากลัด เป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีศิลปวัฒนธรรมซึ่งสืบทอดกันมา หัวใจของงานคือการจัดขบวนแห่นางสงกรานต์ ขบวนแห่รถปุปผาชาติ การประกวดนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชาย การฟื้นฟูสืบสานการละเล่นพื้นบ้าน สะบ้ามารัญ วัฒนธรรมการแต่งกายและวิถีชีวิตของชาวมอญ (ชาวไทยเชื้อสายรามัญ) 

วัฒนธรรมประเพณีสำคัญของอำเภอพระประแดง

ประเพณีทำบุญน้ำผึ้ง
ชาวมอญจะทำบุญน้ำผึ้งในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ จะมีการนำอาหารคาวหวานไปทำบุญที่วัดใกล้บ้านหรือที่สมาคมไทยรามัญ บ้านบางกะดี่ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีชาวมอญจากหลายจังหวัดมารวมกันทำบุญอย่างยิ่งใหญ่ การทำบุญในวันนี้จะมีการนำน้ำผึ้งที่บริสุทธิ์ใส่ในภาชนะไปรินลงในบาตร และมีการนำผ้าผืนเล็ก ๆ ซึ่งอาจเป็นผ้าเช็ดหน้าไปทำบุญด้วย วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้พระนำผึ้งไปทำน้ำกระสายยาสมุนไพร หรือคลุกปั้นเข้ากับยาผงทำเป็นยาลูกกลอนซึ่งเชื่อว่าฉันแล้วจะเป็นยาอายุวัฒนะ การตักบาตรน้ำผึ้งนั้นชาวบางพลีก็ปฏิบัติเหมือนกัน
 
ประเพณีส่งข้าวสงกรานต์
ประเพณีส่งข้าวสงกรานต์ของมอญพระประแดง จะกระทำเฉพาะวันที่ ๑๓ , ๑๔ , ๑๕ เมษายนเท่านั้น เมื่อถึงกำหนดวันส่งข้าวสงกรานต์บ้านที่รับหน้าที่ทำ จะปลูกศาลเพียงตาประกอบด้วยทางมะพร้าวกับธง การหุงข้าว สงกรานต์แต่เดิมจะต้องนำข้าวมาซ้อมให้ขาวเก็บกากข้าวและสิ่งสกปรกออกให้หมด นำไปซาวน้ำ ๗ ครั้ง จากนั้นนำไปหุงเป็นข้าวสวยแต่แข็งกว่าเล็กน้อยนำไปแช่เย็นเพื่อไม่ให้ข้าวเกาะตัวกัน หลังจากนั้นต้มน้ำ ทิ้งไว้ให้เย็น โรยดอกมะลิ เอาน้ำดอกมะลิใส่ลงไปในข้าวที่หุงไว้ แล้วนำไปใส่หม้อดิน กับข้าวมันเป็นไข่เค็ม ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ผักกาดเค็ม หรือยำชนิดต่าง ๆ ของหวานได้แก่ ถั่วดำต้มน้ำตาล ผลไม้ที่นิยมได้แก่ กล้วยหักมุก แตงโม เมื่อจัดอาหารเสร็จแล้วก็จัดลงในกระทงวางในถาดเท่ากับจำนวนวัดที่จะไป ซึ่งวัดมอญในเขตพระประแดงมี ๑๐ วัด
 
ประเพณีสงกรานต์
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง เดิมเรียกกันว่า "สงกรานต์ปากลัด" ภายโดยรวม ๆ ก็นับว่าคล้ายคลึงกับประเพณีสงกรานต์ทั่ว ๆ ไป แต่ที่เห็นว่าแตกต่างจากประเพณีสงกรานต์อื่น ๆ คือ การจัดงานสงกรานต์พระประแดง จะช้ากว่าวันสงกรานต์ปกติ คือ แทนที่จะจัดในวันที่ ๑๓ เมษายน ก็กลับเป็นวันอาทิตย์ต่อถัดจากวันสงกรานตือีกหนึ่งสัปดาห์ อย่างเช่นในปีนี้ (พ.ศ. ๒๕๔๖) สงกรานต์ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน แต่สงกรานต์พระประแดง จะจัดหลังจากวันมหาสงกรานต์ ๑ อาทิตย์
 
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง ถือเป็นวันเทศกาลขึ้นปีใหม่ เป็นเทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายมอญ หรือที่เรียกว่า ชาวไทยรามัญ ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองพระประแดง นับเป็นเวลาร้อยแปดสิบปีเศษแล้วที่ชาวมอญได้มาพักพิงอาศัยอยู่ที่ปากลัด และสืบทอดประเพณีเก่าแก่ของชาวมอญเอาไว้ นั่นก็คือประเพณีสงกรานต์พระประแดง เป็นเทศกาลที่สนุกสนาน รวมประเพณีหลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน ในวันสงกรานต์ จะเริ่มต้นด้วยการส่งข้าวสงกรานต์ตามวัดต่างๆ ทำบุญทำทานในตอนเช้าตรู่ ในตอนสายลูกหลานจะพากันไปรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ตอนกลางคืนจะมีการเล่นสะบ้าตามหมู่บ้านต่าง ๆ การร้องเพลงทะแยมอญกล่อมบ่อน ซึ่งแสดงถึงวิถีชีวิตของชาวไทย เชื้อสายรามัญ และในวันท้ายของสงกรานต์ทุกหมู่บ้านจะร่วมใจกันจัดขบวนแห่นางสงกรานต์เพื่อนำขบวนไปปล่อยนก - ปล่อยปลา ณ อาราหลวง วัดโปรดเกษเชษฐาราม ซึ่งถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ของชาวมอญ
        
สงกรานต์ในแต่ละปี ลูกสาวของท้าวมหาสงกรานต์ ทั้ง ๗ คน ต้องสลับเปลี่ยนเวรกันในแต่ละปี เพื่อนำเอาเศียรของท้าวมหาสงกรานต์นำขบวน แห่รอบ ๆ เขาไกรลาส ที่ประทับของพระอิศวร พอถึงวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "วันสงกรานต์" เทพีประจำปีก็ต้องตรวจดูว่าวันที่ ๑๓ เมษายนปีนี้ เป็นวันอะไร เทพีประจำวันก็ต้องนำเศียรของบิดาเวียนรอบเขาไกรลาส ถ้าถึงเวรของเทพี ผู้อื่นก็ต้องสับเปลี่ยนเทพีประจำวันนั้น ๆ
 
เนื่องจากงานสงกรานต์พระประแดง มีประเพณีการปล่อยนก ปล่อยปลา วันท้ายวันสงกรานต์ การเห่ปลาที่มีสาว ๆ แต่งตัวกันอย่างสวยงามนำปลากับนกมาแห่เป็นขบวน แต่เดิมชาวบ้านทรงคนองและชาวหมู่บ้านแซ่ ได้จัดขึ้นก่อน คือหมู่บ้านแซ่ ก็จะนำปลาไปปล่อยที่วัดทรงธรรม ชาวหมู่บ้านทรงคนอง ก็จะนำปลาปล่อยที่วัดคันลัดต่อมาภายหลังเทศบาลเมืองพระประแดง ได้เล็งเห็นว่าควรจะอนุรักษ์ไว้จึงได้จัดแห่ปลาขึ้น โดยเชิญชาวรามัญจากหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตตำบลตลาดและตำบลใกล้เคียงมาร่วมขบวนด้วย
 
วิธีการเชิญสาวเข้าร่วมาขบวนแห่นั้น ได้มอบให้ผู้ที่เป็นคนกว้างขวางรู้จักคนมาก นำหมากพลูจีบใส่พานไปเชิญสาวตามหมู่บ้านต่าง ๆ สาวใดเมื่อได้รับหมากพลูไปแล้วเขาก็จะมาร่วมเข้าขบวน เมื่อสาวมาพร้อมกันแล้วผู้ที่มีหน้าที่คัดเลือกสาวงาม ก็พิจารณาดูว่าผู้ใดสวยที่สุดก็ให้เป็นนางสงกรานต์ในปีนั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้จัดให้มีการประกวดนางสงกรานต์ขึ้นเป็นครั้งแรก และในปีพ.ศ. ๒๕๔๑ จึงจัดให้มีการประกวดหนุ่มลอยชาย ควบคู่กับการประกวดนางสงกรานต์
 
ประเพณีสงน้ำพระพุทธรูป
ในช่วงท้ายของสงกรานต์ชาวมอญในพระประแดงก็จะมีประเพณีสรงน้ำพระพุทธรูปวัดที่มีพระพุทธรูปมากมายและสวยงามคือ วัดโปรดเกษเชษฐาราม ในตอนเย็นหนุ่มสาวก็จะพากันนำน้ำอบไปสรงน้ำพระพุทธรูปรอบวัด เมื่อเสร็จสิ้นจากการสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วหนุ่มสาวก็จะพากันนำน้ำอบไปรดน้ำ ขอพรผู้ใหญ่ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ชาวมอญ ถือว่าเป็นการให้ความเคารพนับถือผู้ใหญ่และเป็นการขอพรจากผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วระหว่างเดินทางกลับบ้านก็จะมีหนุ่มในหมู่บ้านต่าง ๆ ออกมาเล่นสาดน้ำกับสาว ๆ ด้วยกริยาท่าทีที่สุภาพรดแต่พองามและคุยกันตามประสาหนุ่มสาวตลอดทางที่เดินกลับบ้าน แต่ในปัจจุบันประเพณีนี้ก็ค่อย ๆ หายไปหลังจากที่พระประแดงมีการสัญจรคับคั่งไปด้วยรถยนต์
 
ประเพณีแห่นก - แห่ปลา
ประเพณีแห่นก - แห่ปลา เกิดจากความเชื่อของชาวมอญที่ว่า การปล่อยนก ปล่อยปลา เป็นการสะเดาะห์เคราะห์ให้แก่ตนเอง ทำให้มีอายุยืนยาว และเป็นประเพณีหนึ่งในเทศกาลสงกรานตืที่จัดพร้อมกับขบวนแห่นางสงกรานต์ในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์พระประแดง (การแห่นกนั้นได้นำมาผนวกเข้าในภายหลังด้วยเหตุผลอย่างเดียวกัน) ซึ่งชาวมอญยึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณีแห่นก-แห่ปลา ในที่สุด เทศบาลเมืองพระประแดงพิจารณาเห็นว่าประเพณีแห่นก-แห่ปลา เป็นประเพณีที่ดี สมควรอนุรักษ์ไว้ จึงได้รับเป็นผู้สืบสานประเพณีนี้ โดยจัดให้มีขบวนแห่นก-แห่ปลา ในขบวนแห่นางสงกรานต์ทุกปีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
  
 
ประเพณีการกวนกาละแมปากลัด (กวันฮะกอ)
เมื่อถึงเทศกาลประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญปากลัด ชาวมอญจะทำความสะอาดบ้านเรือนแต่เนิ่น ๆ และทำขนมที่มอญเรียกว่า "กวันฮะกอ" แปลเป็นภาษาไทยว่า "ขนมกวน" ประกอบด้วยแป้ง ข้าวเหนียว น้ำตาลมะพร้าว กะทิกวน ให้เข้ากันจนเหนียว คนไทยเรียกว่า "กาละแม คนมอญ ก็เรียก "กาละแม" ด้วย เมื่อถึงวันสงกรานต์ คนมอญจะนำอาหารไปทำบุญที่วัดตอนเย็นจะพากันไปรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ และผู้ที่เคารพนับถือ บรรดาสาว ๆ ตามหมู่บ้านจะนำขนมกาละแมไปส่งตามญาติ หรือผู้ที่เคารพนับถือในต่างตำบล และชอบที่จะไปส่งไกลบ้านตน (ซึ่งความจริงทุกบ้านก็กวนกาละแมถือว่าเป็นโอกาสได้เยี่ยมเยียน พบปะกัน) ตอนเย็นจะพากันไปสรงน้ำพระที่วัดโปรดเกษเชษฐาราม หนุ่ม ๆ ที่คอยสาว ๆ อยู่จะพากันรดน้ำสาว ๆ เป็นที่สนุกสนาน เป็นโอกาสที่หนุ่มสาวจะพบกันได้ในงานสำคัญนี้ พอตกกลางคืนจะมีการเล่นสะบ้าตามประเพณี ตามหมู่บ้านของตนและการเล่นสะบ้านี้จะมีขนม "กวันฮะกอ" เตรียมไว้ให้รับประทานด้วย ปัจจุบันนี้ประเพณียังคงอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ
 
 
ประเพณีแห่หงส์ - ธงตะขาบ
หงส์นั้นเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองหงสาวดีอันเป็นดินแดนดั้งเดิมของชาวมอญ ตามตำนานเล่าว่า หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ได้ ๘ ปี ได้เสด็จไปยังแคว้นต่าง ๆ วันหนึ่งทรงมาถึงภูเขาสุทัศนมรังสิต ซึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองสะเทิน ทรงเห็นเนินดินกลางทะเล มีหงส์คู่หนึ่งเล่นน้ำกันอยู่พระองค์จึงทำนายว่าในกาลสืบไปข้างหน้า เนินดินที่หงส์ทองเล่นน้ำจะกลายเป็นมหานครชื่อว่า หงสาวดี คำสั่งสอนของพระพุทธองค์จะรุ่งเรืองขึ้นที่นี่ หลังจากเสด็จดับขันธ์ล่วงไปแล้วได้ ๑๐๐ ปี ทะเลใหญ่นั้นก็เกิดตื้นเขินจนกลายเป้นแผ่นดินกว้างใหญ่ เมืองหงสาวดีจึงได้กำเนิดขึ้น ณ ดินแดนที่มีหงส์ทองเล่นน้ำอยู่นั้น ดังนั้นชาวมอญในหงสาวดีจึงใช้หงส์เป็นสัญลักษณ์ของประเทศตั้งแต่นั้นมา
  
 
ส่วนธงตะขาบนั้น มีความหมายในทางโลกว่า ตะขาบนั้นมีเขี้ยวเล็บที่มีพิษ สามารถต่อสู้กับศัตรูที่มาระรานได้ จึงเปรียบเสมือนคนมอญซึ่งไม่เคยหวาดหวั่นต่อศัตรู ส่วนความหมายในทางธรรมนั้น คนมอญจะตีความทุกส่วนของตะขาบออกมาเป็นปริศนาธรรมทั้งสิ้น

 

New stories

all : eat | fun | travel | cannabis

Latest view

มีเรื่องอยากเล่า มีร้านอยากอวด มีกิจกรรมเด็ดๆ อยากโปรโมทเชิญชวน ส่งเรื่อง/ภาพมาที่ eatfuntravel.com@gmail.com