Eat Fun Travel Latest view
Thumbnail imgxs

เมืองบั้งไฟ คือสัญลักษณ์แรกเมื่อนึกถึงยโสธรและเป็นเช่นนี้มายาวนาน สมดังคำขวัญจังหวัด "เมืองบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ" ยโสธรเป็นดินแดนตอนในของพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำชีเสมือเป็นหัวใจของเมือง ก่อเกิดวัฒนธรรมประเพณีความเชื่อเรื่องพญานาคและการจุดบั้งไฟ ยโสธรจึงได้ชื่อว่าเมืองบั้งไฟนั่นเอง ยโสธรมีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตข้าวเกษตรอินทรีย์ของภูมิภาค ในด้านการท่องเที่ยวถือว่าเป็นจังหวัดที่มีจุดเด่นด้านประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ คละเคล้าไปกับความหลากหลายในเชิงประวัติศาสตร์โบราณสถาน/โบราณวัตถุ และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

ปัจจุบันจังหวัดยโสธร แบ่งการปกครองเป็น 9 อำเภอ ได้แก่ เมืองยโสธร เลิงนกทา คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัย กุดชุม ป่าติ้ว ค้อวัง ทรายมูล ไทยเจริญ มีจำนวนประชากรราว 5.33 แสนคน

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดยโสธร ได้แก่
•  ชุมชนเมืองเก่าบ้านสิงห์ท่า (ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง , การตักบาตรย้อนยุค ,บ้านโบราณที่มีศิลปะแบบโคโลเนียล ,หลวงพ่อสิงห์ฤทธิ์ปราบปวงมาร ณ วัดสิงห์ท่า)
• อนุสาวรีย์พระสุนทรราชวงศา (สิงห์) เจ้าเมืองยโสธร
• พระธาตุ พระอานนท์ , หอไตรกลางน้ำ
•  เจดีย์หลวงพ่อพระสุก และพิพิธภัณฑ์ พระเทพสังวรญาณ (หลวงตาพวง สุขินทริโย)
• พระเจดีย์เก้ายอด
• วิมานพญาแถน พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก พิพิธภัณฑ์พญานาค และประติมากรรมขบวนแห่บั้งไฟ
• ธาตุก่องข้าวน้อย
• ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชตำบลทุ่งแต้ วัดบูรพา
• เจดีย์ผู้มีบุญ
• เจดีย์พุทธเมตตามหามงคล
• พระธาตุโพนทัน
• พระธาตุกู่จาน
• แหล่งโบราณสถานดงเมืองเตย
• พิพิธภัณฑ์หนังประโมทัย
• หมู่บ้านวัฒนธรรม สืบสานการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน หมอลำเพลิน
• เจดีย์มหาชนะชัย ,มณฑปครอบรอยพระพุทธบาท
• พิพิธภัณฑ์มาลัยข้าวตอก
• โบราณสถานดอนพระธาตุ
• บ้านศรีฐาน (ผลิตภัณฑ์หมอนขวานผ้าขิด,วิหารพิพิธภัณฑ์หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ )
• หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์ วัดสระไตรนุรักษ์
• หมู่บ้านวัฒนธรรม สืบสานการสลักลายบั้งไฟโบราณ
• หมู่บ้านวัฒนธรรมส่งเสริมการทำสมุนไพรพื้นบ้าน
• พระธาตุเจดีย์บารมีพุทธิคุณ
• กลุ่มโคขุนหนองแหน/เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์กลุ่มแปรรูปอาหารชม/การแสดงคาวบอย
• โบสถ์ไม้ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
• เจดีย์ศรีสุนทรบวรมงคลกุศลไพบูลย์เพิ่มพูน
• หมู่บ้านวัฒนธรรม สัมผัสวิถีชีวิตชนเผ่า ภูไท บ้านห้องแซง

ข้อมูลจากจังหวัดยโสธร ภาพจาก ททท.

ประเพณีบุญบั้งไฟ

  มีขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม ของทุกปี ณ สวนสาธารณะพญาแถนโดยแต่เดิมมีวัตถุประสงค ์เพื่อมุ่งแสดงออกถึงความสามัคคีของหมู่คณะ และมีความเชื่อว่าเมื่อจัดงานนี้แล้วเทพยดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จะดลบันดาลให้มีฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์บั้งไฟแต่ละอันที่มาเข้าขบวนแห่ จะถูกตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามด้วยลวดลายไทยสีทอง เล่ากันว่าศิลปะการตกแต่งบั้งไฟนี้ นายช่างจะต้องสับและตัดลวดลายต่างๆ นี้ไว้เป็นเวลาแรมเดือน แล้วจึงนำมาทากาวติดกับลูกบั้งไฟ ส่วนหัวบั้งไฟนั้นจะทำเป็นรูปต่างๆ ส่วนมากนิยมทำเป็นรูปหัวพญานาคอ้าปากแลบลิ้นพ่นน้ำได้ บ้างก็ทำเป็นรูปอื่น ๆ
 
แต่ก็มีความหมายเข้ากับตำนานในการขอฝนทั้งสิ้น ตัวบั้งไฟนั้นจะนำมาตั้งบนฐาน ใช้รถหรือเกวียนเป็นพาหนะนำมาเดินแห่ตามประเพณีบั้งไฟ ที่จัดทำมีหลายชนิด คือ มีทั้งบั้งไฟกิโล บั้งไฟหมื่น และบั้งไฟแสน บั้งไฟกิโลนั้นหมายถึง น้ำหนักของดินประสิว 1 กิโลกรัม บั้งไฟหมื่นก็ใช้ดินประสิว 12 กิโลกรัม บั้งไฟแสนก็ใช้ดินประสิว 120 กิโลกรัมเมื่อตกลงกันว่าจะทำบั้งไฟขนาดไหนก็หาช่างมาทำ หรือที่มีฝีมือก็ทำกันเอง ช่างที่ทำบั้งไฟนั้นสำคัญมาก ช่างจะต้องเป็นผู้มีฝีมือในการคำนวณผสมดินประสิวกับถ่านไม้ เพราะถ้าไม่ถูกสูตรบั้งไฟก็จะแตก คือไม่ขึ้นสู่ท้องฟ้า สำหรับไม้ที่จะทำเป็นเสาบั้งไฟนั้น ต้องมีไม้ไผ่ที่มีลำปล้องตรงกันเสมอกัน จะตัดเอาแต่ที่โคนต้น เพราะมีความหนาและเหนียว ความยาวนั้นแล้วแต่จะตกลงกัน
 
ในวันรุ่งขึ้นเป็นการจุดบั้งไฟ จะมีการแบกบั้งไฟไปยังฐานยิงในที่โล่ง ถ้าบั้งไฟของใครจุดแล้วยิงไม่ขึ้น คนทำจะถูกจับโยนลงในโคลน ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมา





  ประเพณีบุญบั้งไฟตามตำนานเล่าว่า  เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าถือชาติกำเนิดเป็นพญาคางคก  พญาคางคกได้อาศัยอยู่ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ในเมืองพันทุมวดี ด้วยเหตุใดไม่แจ้งพญาแถนเทพเจ้าแห่งฝนโกรธเคืองโลกมนุษย์มาก จึงแกล้งไม่ให้ฝนตกนานถึง 7 เดือน ทำให้เกิดความลำบากยากแค้นอย่างแสนสาหัสแก่มวลมนุษย์ สัตว์ และพืชจนกระทั่งพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่แข็งแรงก็จะรอดตาย และได้พากันมารวมกลุ่มใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กับพญาคางคก  สรรพสัตว์ทั้งหลายจึงได้หารือกันเพื่อจะหาวิธีการปราบพญาแถน  ที่ประชุมได้ตกลงกันให้พญานาคียกทัพไปรบกับพญาแถน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ จากนั้นจึงให้พญาต่อแตนยกทัพไปปราบแต่ก็พ่ายแพ้อีกเช่นกัน  ทำให้พวกสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดความท้อถอยหมดกำลังใจ และสิ้นหวัง ได้แต่รอวันตาย  ในที่สุดพญาคางคกขออาสาที่จะไปรบกับพญาแถน  จึงได้วางแผนในการรบโดยให้ปลวกทั้งหลายก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงเมืองพญาแถน เพื่อเป็นเส้นทางให้บรรดาสัตว์ ซึ่งมีมอด แมงป่อง และตะขาบ ได้เดินทางไปสู่เมืองพญาแถน สำหรับมอดได้รับหน้าที่ให้ทำการกัดเจาะด้ามอาวุธที่ทำด้วยไม้ทุกชนิด  ส่วนแมงป่องและตะขาบให้ซ่อนตัวอยู่ตามกองฟืนที่ใช้หุงต้มอาหาร และอยู่ตามเสื้อผ้าของไพร่พลพญาแถน ทำหน้าที่กัดต่อย หลังจากวางแผนเรียบร้อยกองทัพของพญาคางคกก็เดินทางออกรบ  มอดทำหน้าที่กัดเจาะด้ามอาวุธ แมงป่องและตะขาบกัดต่อยไพร่พลของพญาแถนเจ็บปวดร้องระงมจนกองทัพระส่ำระส่าย ในที่สุดพญาแถนยอมแพ้  และตกลงทำสัญญาสงบศึกกับพญาคางคก ดังนี้
 
1.       ถ้ามวลมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อใด ให้พญาแถนสั่งให้ฝนตกในโลกมนุษย์
2.       ถ้าได้ยินเสียงกบ เขียดร้อง ให้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว
3.       ถ้าได้ยินเสียงสนู (เสียงธนูควายของว่าว) หรือเสียงโหวด ให้ฝนหยุดตกเพราะจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว
หลังจากที่ได้สัญญากันแล้ว พญาแถนจึงได้ถูกปล่อยตัวไป และได้ปฏิบัติตามสัญญาจนบัดนี้  การจุดบั้งไฟให้ขึ้นไปบนท้องฟ้า เพื่อเป็นการแสดงคารวะ กับเป็นสัญญาแจ้งให้เทพารักษ์ได้ทราบว่าใกล้จะถึงฤดูทำไร่ไถนากันแล้ว ขอได้โปรดเมตตาช่วยบันดาลให้ฝนตกมายังภาคพื้นดินด้วย ประกอบกับชาวพื้นเมืองทั่ว ๆ ไปในภาคอีสาน    ได้ทำพิธีแห่บุญบั้งไฟขึ้นก็ในราวเดือน 6 ซึ่งเป็นเดือนราษฎร์ และตรงกับเดือนหลวงก็คือเดือนพฤษภาคมของทุก ๆ ปี

ย่านเมืองเก่าบ้านสิงห์ท่า

ค้นหาอดีตเมืองยโสธร ยโสธรเมืองเล็กที่งดงามด้วยวัฒนธรรมและงานบุญบั้งไฟพร้อมอาหารเป็นเอกลักษณ์ ทั้งปลาส้มและลอดช่องยโสธร อีกทั้งยังมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ย่านบ้านสิงห์ท่า ใครได้มายโสธรแล้วไม่ไปเที่ยวชม ก็เหมือนมาไม่ถึง...

วัดพระพุทธบาทยโสธร

วัดพระพุทธบาทยโสธร ตั้งอยู่ที่บ้านหนองยาง ตำบลหัวเมือง ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 6 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2083 ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเป็นเนินทรายขาวสูง บริเวณวัดมีเนื้อที่ประมาณ 269 ไร่ ตั้งอยู่บนเนินทรายริมฝั่งแม่น้ำชี ตำบลหัวเมืองงอกขึ้นกลางพื้นที่ลุ่มน้ำชีนับเป็นโบราณวัตถุอันล้ำค่าของจังหวัด บริเวณเดียวกันนี้ยังมีโบราณวัตถุอีกชิ้นหนึ่ง ได้แก่ พระพุทธรูปปางนาคปรก (ศิลาแลง) 1 องค์ ขนาดหน้าตักกว้าง 1 ศอก และหลักศิลาจารึกทำด้วยศิลาแลง 1 หลัก สูง 1 เมตร กว้าง 50 เซ็นติเมตร มีตัวหนังสือโบราณบันทึกไว้ว่า โบราณวัตถุทั้ง 3 อย่างนี้ พระมหาอุตตปัญญาและสิทธิวิหาริก ได้นำมาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 1378 นอกจากนั้นก็เขียนบอกคำนมัสการพระพุทธบาทไว้ บางตัวก็อ่านไม่ออกเพราะเลือนลางมาก ในระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ของทุกปี จะมีประชาชนจากอำเภอและตำบลใกล้เคียงไปนมัสการเป็นจำนวนมากภายในวัดแบ่งพื้นที่เป็นเขตโบราณสถานและโบราณวัตถุ ซึ่งโบราณสถานและโบราณวัตถุยังคงสภาพให้เห็นจนถึงปัจจุบัน คือ รอยพระพุทธบาท  พระพุทธรูปปางนาคปรก และศิลาจารึก นอกจากนี้ภายในวัดยังมีเจดีย์วัดพระพุทธบาทยโสธร สูง 45 เมตร มี 3 ชั้น ชั้นที่ 1 จัดแสดงศิลปหัตถกรรมเครื่องใช้ของคนภาคอีสานในอดีต และเป็นห้องสมุดสำหรับค้นคว้าพระธรรมวินัย พระไตรปิฎก ชั้นที่ 2 เป็นที่แสดงหุ่นขี้ผึ้งรูปเหมือนบูรพาจารย์ จำนวน 8 องค์ ส่วนชั้นที่ 3 เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุประดิษฐานในบุษบกแกะสลักสีทอง และในอุโบสถวัดพระพุทธบาทยโสธร ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหยกขาวขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
 
 
การเดินทาง ห่างจากอำเภอเมือง 45 กิโลเมตร ตามเส้นทางยโสธร – คำเขื่อนแก้ว-มหาชนะชัย –พนมไพร (ทางหลวงหมายเลข 23, 2083 และ 2227) 

วัดมหาธาตุ โบราณสถานพระพุทธบุษยรัตน์ ยโสธร

วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง โบราณสถานที่สำคัญในวัดคือ พระพุทธบุษยรัตน์หรือพระแก้วหยดน้ำค้าง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยเชียงแสน เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของยโสธรที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธรคนแรก
ภายในวัดมหาธาตุมีสิ่งที่น่าสนใจคือ
 
 
พระธาตุยโสธร หรือ พระธาตุอานนท์ ตั้งอยู่หน้าอุโบสถ เป็นพระธาตุรุ่นเก่าที่สำคัญองค์หนึ่งในภาคอีสาน เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมส่วนยอดคล้ายพระธาตุพนม ภายในพระธาตุบรรจุอัฐิธาตุของพระอานนท์ การก่อสร้างได้รับอิทธิพลศิลปะลาวที่นิยมสร้างขึ้นเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งตรงกับประวัติการตั้งเมืองและประวัติของวัดมหาธาตุฉบับหนึ่งว่า สร้างราวพ.ศ. 2321 โดยท้าวหน้า ท้าวคำสิงห์ ท้าวคำผา   ซึ่งเดิมเป็นเสนาบดีเก่าของกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ต่อมาได้อพยพผู้คนภายใต้การนำของพระวอ พระตา ราว พ.ศ. 2313-2319 มาตั้งถิ่นฐาน ณ ที่นี้
 
ลักษณะพระธาตุ ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 81 เมตร ก่ออิฐถือปูนเอวฐานคอดเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย เหนือขึ้นไปเป็นเรือนธาตุ มีซุ้ม 4 ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ส่วนยอดธาตุมียอดปลีเล็กแซมทั้ง 4 ด้าน ยอดกลางทรงสี่เหลี่ยมสอบ มี 2 ชั้น รูปแบบการก่อสร้างคล้ายกับพระธาตุก่องข้าวน้อยและทางวัดจะจัดให้มีงานสมโภชพระธาตุอานนท์ขึ้นเป็นประจำทุกปีในเดือนมีนาคม
 
หอไตร เป็นที่เก็บคัมภีร์ใบลานของวัด ตั้งอยู่ตรงกลางสระทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระธาตุ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะแบบหอไตรภาคอีสานทั่วไป มีทางเดินโดยรอบติดกันใต้ชายคา บริเวณนี้เป็นที่เก็บรักษาตู้พระธรรม หีบพระธรรม เสลี่ยงชั้นวางคัมภีร์ซึ่งนำมาจากเวียงจันทน์ ซุ้มประตูและบานประตูไม้สลักลวดลายเครือเถาลงรักปิดทองอย่างสวยงาม การตกแต่งฝาผนังมีลวดลาย ซึ่งเป็นลักษณะผสมแบบภาคกลางสันนิษฐานว่า หอไตรสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4-5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สวนสาธารณะพญาแถน ยโสธร

 สวนสาธารณะพญาแถน ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง ริมถนนแจ้งสนิท (ทางหลวงหมายเลข 23) ติดกับอ่างเก็บน้ำลำทวน ภายในสวนพญาแถนมีลำน้ำเล็กๆ คดเคี้ยวล้อมรอบบริเวณโดยรอบประกอบด้วยสวนไม้ดอกไม้ประดับ สังคีตศาลา (เวทีการแสดงกลางแจ้ง) สนามเด็กเล่น และสวนสุขภาพ
เทศบาลกำหนดให้สวนพญาแถนเป็นสถานที่จัดงานบั้งไฟประจำปี (พญาแถนเป็นชื่อของเทพเจ้าแห่งฝนตามความเชื่อของชาวอีสานว่าเมื่อถึงเดือนหกจะต้องทำบั้งไฟจุดขึ้นไปบนท้องฟ้าถวายพญาแถน ฝนจะได้ตกต้องตามฤดูกาล) นอกจากนี้ยังใช้เป็นสถานที่จัดงานแข่งเรือสั้น(เรือหาปลา)ประจำปี และงานสงกรานต์

หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์

หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์ ตั้งอยู่ที่วัดสระไตรนุรักษ์ บ้านนาเวียง หมู่ที่1 ตำบลนาเวียง อำเภอทรายมูล จ.ยโสธร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 25 กิโลเมตร เป็นหอไตรเก่าแก่อยู่กลางสระน้ำ
 
สร้างมาประมาณร้อยกว่าปี เป็นสถาปัตยกรรมแบบพม่าหรือไทยใหญ่ เป็นอาคารไม้ขนาดกว้าง 8.30 เมตร ยาว 10.50 เมตร หลังคามุมสังกะสี มีชายคายื่นทั้ง 4 ทิศ หลังคามี 4 ชั้น ลดหลั่นกันขึ้นไปมีประตูด้านหน้า 1 ช่อง บานประตูแกะสลักลวดลายสวยงาม ใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกแต่มาโบราณ

แหล่งโบราณสถานบ้านสงเปือย ยโสธร

แหล่งโบราณสถานบ้านสงเปือย อยู่ห่างจากตัวเมืองยโสธร 25 กิโลเมตร ตามเส้นทางยโสธร-คำเขื่อนแก้ว-อุบลราชธานี (ทางหลวงหมายเลข 23) จะมีทางแยกขวาเข้าไปอีกราว 10 กิโลเมตร
 
สิ่งสำคัญและปูชนียสถานที่น่าสนใจมีดังนี้
 
พระพุทธรูปใหญ่ เป็นพระประธานในอุโบสถวัดสงเปือย มีขนาดหน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 8 เมตร เป็นพระพุทธรูปปั้นด้วยอิฐ ปูน มีอายุไม่น้อยกว่า 200 ปี
เจดีย์บรรจุดินจากสังเวชนียสถาน เดิมเป็นเจดีย์เก่า มีอายุมากกว่า 200 ปี ในปี พ.ศ. 2498 ได้ต่อเติมขึ้นใหม่ โดยเงินทุนของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม พระปลัดเขียน อัมมาพันธ์ นำดินจากสังเวชนียสถาน 4 ตำบล คือ ที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน จากประเทศอินเดียมาบรรจุไว้
รอยพระพุทธบาทจำลอง สร้างโดยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิง ในวันสงกรานต์ของทุกปีมีประชาชนในท้องถิ่นมาสรงน้ำเป็นจำนวนมาก
พิพิธภัณฑ์ของโบราณ เป็นสถานที่รวบรวมของโบราณซึ่งเก็บและขุดได้จากดงเมืองเตยเมืองเก่าสมัยขอม ในพิพิธภัณฑ์นี้มีเตียงบรรทมเจ้าเมือง (เป็นศิลา) และศิลาจารึก สันนิษฐานว่าเป็นอักษรขอมโบราณ
ซากเมืองโบราณดงเมืองเตย อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านสงเปือยห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร และห่างจากตัวอำเภอประมาณ 7 กิโลเมตร ภายในบริเวณดงเมืองเตยมีซากวัด สระน้ำ กำแพงเมือง ซึ่งปัจจุบันได้ชำรุดลงไปมากแล้ว แต่ยังมีเค้าโครงเดิมพอจะสันนิษฐานได้ว่าเดิมเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณสมัยเจนละ-ทวารวดี ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 จากข้อความที่พบในจารึกของกษัตริย์เจนละ แสดงว่าโบราณสถานแห่งนี้สร้างขึ้นเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ที่นับถือพระศิวะ ในช่วงเวลานั้น บริเวณดงเมืองเตย รวมทั้งชุมชนใกล้เคียงเคยเป็นเมืองที่มีชื่อว่า “ศังขะปุระ” มีความสัมพันธ์ในฐานะเมืองในปกครองของอาณาจักรเจนละ ซึ่งก็คืออาณาจักรขอมในสมัยต่อมาที่แผ่อำนาจเข้ามาในเขตลุ่มแม่น้ำมูล-ชี ในช่วงเวลาดังกล่าว 

ภูถ้ำพระ พระพุทธรูปในถ้ำ ยโสธร

 ภูถ้ำพระ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านกุดแห่  หรือกุดแห ตำบลกุดเชียงหมี ห่างจากอำเภอเลิงนกทา 12 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 212 และห่างจากอำเภอเมือง 85 กิโลเมตร ที่เรียกว่า “ภูถ้ำพระ”

เนื่องจากมีพระพุทธรูปอยู่ในถ้ำจำนวนมาก ถ้ำพระนี้เป็นถ้ำใหญ่กว้างประมาณ 3 วา ยาวประมาณ 8 วา ตั้งอยู่ชะง่อนภูด้านทิศใต้ มีทางเข้าไปตามซอกหินเป็นอุโมงค์ จากปากถ้ำเลยไปทางทิศเหนือสามารถเดินลอดไปได้ บนภูเขาลูกนี้นอกจากจะมีบรรยากาศร่มเย็นและร่มรื่นไปด้วยป่าไม้หนาทึบแล้ว บริเวณโดยรอบยังมีถ้ำอื่น ๆ อีก อาทิ ถ้ำเค็ง ถ้ำงูซวง ถ้ำเกลี้ยง และถ้ำพรหมบุตร

พระธาตุก่องข้าวน้อย ยโสธร

พระธาตุก่องข้าวน้อย ตั้งอยู่ในทุ่งนา ตำบลตาดทอง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 9 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 23 (ยโสธร-อุบลราชธานี) กิโลเมตรที่ 194 เลี้ยวซ้ายไปอีก 1 กิโลเมตร
 
พระธาตุก่องข้าวน้อยเป็นเจดีย์เก่าสมัยขอม สร้างในพุทธศตวรรษที่ 23-25 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ในเขตวัดพระธาตุก่องข้าวน้อย ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงทุ่งนาในเขตตำบลตาดทอง พระธาตุก่องข้าวน้อยเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงแปลกไปจากเจดีย์โดยทั่วไป คือมีลักษณะเป็นก่องข้าว องค์พระธาตุเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สาม ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 2 เมตร ก่อสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ช่วงกลางขององค์พระธาตุมีลวดลายทำเป็นซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ถัดจากช่วงนี้ไปเป็นส่วนยอดของเจดีย์ที่ค่อยๆ สอบเข้าหากัน ส่วนยอดรอบนอกของพระธาตุก่องข้าวน้อยมีกำแพงอิฐล้อมรอบขนาด 5?5 เมตร
 
นอกจากนี้บริเวณด้านหลังพระธาตุมีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่งก่อด้วยอิฐ ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก และในเดือนห้าจะมีผู้คนนิยมมาสรงน้ำพระและปิดทอง เชื่อกันว่าถ้าไม่ทำเช่นนี้ฝนจะแล้งในปีนั้น
 
พระธาตุก่องข้าวน้อย มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ซึ่งผิดไปจากปูชนียสถานแห่งอื่นๆ ที่มักเกี่ยวพันกับเรื่องพุทธศาสนา แต่ประวัติความเป็นมาของพระธาตุก่องข้าวน้อยกลับเป็นเรื่องของหนุ่มชาวนาที่ทำนาตั้งแต่เช้าจนเพล มารดาส่งข้าวสายเกิดหิวข้าวจนตาลาย อารมณ์ชั่ววูบทำให้เขากระทำมาตุฆาตด้วยสาเหตุเพียงว่าข้าวที่เอามาส่งดูจะน้อยไปไม่พอกิน ครั้นเมื่อกินข้าวอิ่มแล้ว ข้าวยังไม่หมดจึงได้สติคิดสำนึกผิดที่กระทำรุนแรงต่อมารดาของตนเองจนถึงแก่ความตาย จึงได้สร้างพระธาตุก่องข้าวน้อยแห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลขออโหสิกรรมและล้างบาปที่ตนกระทำมาตุฆาต
 
นอกจากนี้ที่บริเวณบ้านตาดทอง กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นเรื่องราวของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้ค้นพบโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และภาชนะลายเขียนสีแบบบ้านเชียง 

โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ อำเภอไทยเจริญ จ.ยโสธร

โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ ตั้งอยู่ที่อำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร มีประวัติเล่าสืบกันมาว่าในปี ค.ศ.1908 มีผู้หนีตายอพยพจากที่ต่าง ๆ กัน เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้รวม 5 ครอบครัว ซึ่งหนีมาด้วยสาเหตุเดียวกัน คือ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ ชาวบ้านในหมู่บ้านจึงรุมทำร้ายและขับไล่
จากนั้นได้เดินทางไปหาบาทหลวงเดชาแนล และบาทหลวงออมโบรซีโอ ที่บ้านเซซ่ง ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ขอให้ไปช่วยขับไล่ผีปิศาจที่สิงสู่อยู่กับตนและ ครอบครัว ซึ่ง บาทหลวงทั้ง 2 ท่าน ก็ยอมเข้าป่าลึกไปตามคำขอ เมื่อรู้สึกดีขึ้น ทั้ง 5 ครอบครัว จึงเข้านับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ต่อมาบ้านหนองซ่งแย้ มีผู้คนอพยพ ไปอยู่มากขึ้น ในปี ค.ศ. 1909 ชาวบ้านปลูกกระต๊อบ ฝาขัด แตะเล็กๆ ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา นับว่าเป็นจุดกำเนิดวัดซ่งแย้ หรือชื่ออย่าง เป็นทางการ เป็นภาษาละตินว่า วัดอัครเทวดามิคาแอล ตามชื่อนักบุญองค์สำคัญ เป็นภาษาอังกฤษคือโบสถ์ เซนต์ไมเคิล เป็นภาษาฝรั่งเศสคือ โบสถ์แซงต์ มิเชล โดยมีบาทหลวงเดชาแนล เป็นอธิการโบสถ์คนแรก และคนในบ้านหนองซ่งแย้ซึ่งล้วนแต่เป็นชาวไทยอีสาน ได้มาเข้ารีต ถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เกือบทั้งหมด
 
หลังจากนั้น ได้มีการสร้างอาคารโบสถ์ใหม่หลายครั้ง โบสถ์ไม้เนื้อแข็งหลังปัจจุบันนี้ เป็นโบสถ์หลังที่ 4 วางแผนก่อสร้างปี ค.ศ. 1936 ชาวบ้านพากันรวบรวมไม้ ลงมือสร้างปี ค.ศ. 1947 ตัวโบสถ์รูปทรงที่สร้างขึ้นมีลักษณะแบบศิลปะไทย กว้าง 16 เมตร ยาว 57 เมตร จัดเป็นโบสถ์ไม้ที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศไทย ใช้แผ่นไม้เป็นแป้นมุง หลังคา 80,000 แผ่น ใช้เสาขนาดต่างๆกันถึง 360 ต้น ส่วนใหญ่เป็นเสาไม้เต็ง เสาในแถวกลางมีขนาดใหญ่ยาวที่สุดมี 260 ต้น สูงจากพื้นดินกว่า 10 เมตร พื้นแผ่นกระดานเป็นไม้แดงและไม้ตะเคียนขนาดใหญ่ ม้านั่งไม้จุคนได้กว่าพันคน ระฆังโบสถ์มีเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 2 ฟุต อยู่ในหอระฆังสูงที่สร้างแบบหอระฆังตามวัดไทยทั่วไป แต่แปลกตรงที่แยกต่างหากจากโบสถ์ และเนื่องจากไม้ที่ได้รวบรวมมามีจำนวนมาก จึงได้นำไม้ที่เหลือมาสร้างโรงเรียนบ้านซ่งแย้พิทยา
 
การเดินทาง จากยโสธรใช้ทางหลวงหมายเลข 2169 เลยอำเภอกุดชุมไปประมาณ 7-8 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกราว 600 เมตร ถึงบริเวณโรงเรียนซ่งแย้พิทยาและโบสถ์ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกัน

หมู่บ้านทำหมอนขิต บ้านศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จ.ยโสธร

หมู่บ้านทำหมอนขิตบ้านศรีฐาน ห่างจากตัวเมืองยโสธร 20 กิโลเมตร ตามเส้นทางยโสธร-ป่าคิ้ว-อำนาจเจริญ (ทางหลวงหมายเลข 202) ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 18-19 แยกทางขวามือเข้าไปทางลูกรังอีก 3 กิโลเมตร

หลังฤดูทำนาชาวบ้านแทบทุกครัวเรือน มีอาชีพทอผ้าและทำหมอนขิต นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมและซื้อหมอนขิต ไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งขณะนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก ส่งเป็นสินค้าออกไปขายต่างประเทศ นับเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ที่นำรายได้เป็นอันดับสองรองจากการทำนา

กู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร

ตั้งอยู่ที่บ้านงิ้ว ตำบลกู่จาน ห่างจากตัวอำเภอ 12 กิโลเมตร กู่จานเป็นเจดีย์เก่าเจดีย์หนึ่งในจังหวัด มีลักษณะคล้าย ๆ กับพระธาตุพนม ตามตำนานเล่าว่ากู่จานมีมาตั้งแต่ครั้งสร้างพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม

บ้านทุ่งนางโอก อำเภอเมือง จ.ยโสธร

ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 8 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 2169 (ยโสธร-กุดชุม) มีชื่อเสียงในการจักสานไม้ไผ่ เพื่อเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนและของที่ระลึก 

หมู่บ้านนาสะไมย อำเภอเมือง จ.ยโสธร

ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับบ้านทุ่งนางโอก มีชื่อเสียงในเรื่องการจักสานไม้ไผ่และการแกะสลักเกวียนจำลองที่ปราณีตงดงาม 

New stories

all : eat | fun | travel | cannabis

Latest view

มีเรื่องอยากเล่า มีร้านอยากอวด มีกิจกรรมเด็ดๆ อยากโปรโมทเชิญชวน ส่งเรื่อง/ภาพมาที่ eatfuntravel.com@gmail.com