เดิมเป็นพื้นที่สัมปทานนากุ้งในช่วงปี พ.ศ.2524 – 2534 ป่าผืนนี้ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งเสด็จฯมายังวนอุทยานปราณบุรีในปี พ.ศ. 2539 ทั้งสองพระองค์ทรงห่วงใยต่อสถานการณ์ป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำปราณบุรีซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่ กรมป่าไม้ได้สนองพระราชดำริด้วยการยกเลิกสัมปทานนากุ้งและผนวกพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาป่าไม้ปากน้ำปราณบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อีกทั้งได้กำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายในการปลูกฟื้นฟูป่า (Forest Plantation Target – FPT) ได้แก่แปลงปลูกป่า FPT 29 จำนวน 399 ไร่ และ FPT 29/3 จำนวน 387 ไร่ รวม พื้นที่ 786 ไร่ ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 ในครั้งนั้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีปณิธานในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้อาสาเข้าร่วมปลูกป่าในโครงการฯ จำนวน 1 ล้านไร่ รวม 413 แปลงปลูก ใน 48 จังหวัด ร่วมกับกรมป่าไม้ และประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงแปลงปลูกป่าในพื้นที่ตำบลปากน้ำปราณดังกล่าวด้วย โดยสามารถพลิกฟื้นนากุ้งร้างให้เป็นป่าชายเลนได้สำเร็จในปีพ.ศ.2540
จากสภาพดินเดิมที่ขาดความอุดมสมบูรณ์และมีสารเคมีตกค้างไม่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ชายเลน คณะทำงานได้น้อมนำแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ผนวกกับคำแนะนำของนักวิชาการและภูมิปัญญาของชุมชนในพื้นที่ มาดำเนินการจนสามารถพลิกฟื้นผืนป่าชายเลนให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ได้สำเร็จ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีน้อมเกล้าฯ ถวายโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ จำนวน 1 ล้านไร่ ในส่วนที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ร่วมดำเนินการปลูกครบทั่วประเทศ ณ แปลงปลูกป่า FPT 29 ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ในวันดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสต่อคณะทำงานที่มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า
ล “ปลูกป่าแล้วต้องให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ และในขณะเดียวกันก็ต้องช่วยกันอนุรักษ์ด้วย”
คณะทำงานจึงได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสมาเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่แปลงปลูกป่าชายเลนให้เป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ด้านระบบนิเวศป่าชายเลน เพื่อส่งต่อประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานนามศูนย์แห่งนี้ว่า “สิรินาถราชินี” มีความหมายถึง ราชินีผู้ทรงมีพระจริยวัตรอันงดงาม และทรงเป็นที่พึ่งแห่งปวงชน เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 เป็น “ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี” โดยเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2550 มาจนถึงปัจจุบัน
จุดไฮไลท์
ตามรอยเส้นทางเสด็จ
ตามรอยเส้นทางเสด็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีน้อมเกล้าฯ ถวายผืนป่า 1,000,000 ไร่ ในส่วนที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
ชม “ต้นโกงกางประวัติศาสตร์” ณ ศาลาท่าตะบูน
ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงปลูกไว้
ผืนป่าประวัติศาสตร์
ย้อนเวลาบนเส้นทางประวัติศาสตร์บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติความยาว 850 เมตร ชมป่าชายเลนปลูก และศึกษาภูมิปัญญาการพลิกฟื้นป่าชายเลนจากนากุ้งร้าง
สำรวจโลกป่าชายเลน
สำรวจธรรมชาติบนเส้นทางเลาะเลียบคันนากุ้ง(เดิม) พร้อมจุดเรียนรู้ภายในเส้นทางกว่า80 จุด รวมทั้งสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน
ชีวิตติดปีก
เพลิดเพลินกับการดูนกป่าชายเลนกว่า 100 ชนิด
วัฒนธรรมคนสองน้ำ
เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมคนสองน้ำของชาวปากน้ำปราณที่ผูกพันกับป่าชายเลน
แมกไม้นานาพรรณ
ตลอดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติภายในศูนย์ฯสิรินาถราชินี พบกับพันธุ์ไม้ที่มีลักษณะแตกต่างจากพันธุ์ไม้บนบกทั่วไป
หอชะคราม
มุมมอง 360 องศา จากหอชะคราม ชมทิวทัศน์ผืนป่าปลูกที่โอบล้อมด้วยผืนป่าธรรมชาติ
ล่องเรือ “ท่องสองคลองเชื่อมสองป่า”
ในช่วงเดือนกันยายน - เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นช่วงที่น้ำขึ้นสูงในตอนกลางวัน อีกกิจกรรมที่ไม่ควรพลาดคือ การล่องเรือและพายเรือคายัคชมธรรมชาติและวิถีชีวิตชาวปากน้ำปราณ
เปิดให้บริการทุกวัน โทรศัพท์ : 032-632255