Eat Fun Travel Latest view Top view
Thumbnail imgxs

กิจการรถไฟแห่งราชอาณาจักรไทยเริ่มต้นเมื่อ วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2434 เวลา 17.00 น. เศษ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชพิธีทำพระฤกษ์ เริ่มการสร้างทางรถไฟหลวง ณ ปรำพิธี ที่ฝั่งคลองผดุงกรุงเกษม ตรงข้ามวัดเทพศิรินทราวาส หลังจากที่ทรงประกอบพิธี สร้างทางรถไฟหลวงสายแรกแล้ว การก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายแรกของไทย ก็เริ่มต้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา ต่อมาอีก 5 ปีเศษ การสร้างทางรถไฟหลวงสายแรก ก็ได้สำเร็จลงตอนหนึ่ง คือ ตอนตั้งแต่ กรุงเทพฯ ถึงกรุงเก่า เป็นระยะทาง 79 กิโลเมตร ดังนั้น จึงจัดให้มีพระราชพิธีปฐมฤกษ์เปิดทางรถไฟหลวงสายนครราชสีมา ระหว่างกรุงเทพฯ กับกรุงเก่าขึ้น ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439

 
 image2
 image3

ประกอบพระราชพิธีทำพระฤกษ์ เริ่มการสร้างทางรถไฟหลวง 9 มีนาคม พ.ศ. 2434

image ext
image ext
          วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2434 เวลา 17.00 น. เศษ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชพิธีทำพระฤกษ์ เริ่มการสร้างทางรถไฟหลวง ณ ปรำพิธี ที่ฝั่งคลองผดุงกรุงเกษม ตรงข้ามวัดเทพศิรินทราวาส

          เมื่อถึงเวลาพระฤกษ์ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ประทับที่พระราชบัลลังก์ ท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ทูตานุทูต และชาวต่างประเทศ ที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
 
          ต่อจากนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขันนริศรานุวัตติวงษ์ เสนาธิบดีกระทรวงโยธาธิการ ได้กราบบังคมทูลรายงาน แล้วพระองค์ ทรงมีพระราชดำรัสตอบ เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินจากพระราชบัลลังก์ ประทับที่ตรงดิน ซึ่งจะขุดเป็นพระฤกษ์ มิสเตอร์ มิศเชล ผู้แทนมิสเตอร์แคมป์เบลล์ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ทางรถไฟหลวงสายแรก จึงกราบบังคมทูลพระกรุณา เสร็จแล้ว ทูลเกล้าฯ ถวายเสียมเงิน และเกวียนเล็ก สำหรับพระฤษ์ขุดดิน
 
          ครั้นมีพระราชดำรัสตอบแสดงพระราชหฤทัยยินดีสมควรแล้ว พระองค์ ก็ทรงหลั่งน้ำลงเหนือแผ่นดิน ที่จะขุดเป็นพระฤกษ์ แล้วทรงใช้เสียมเงิน ตักดินเทลงในเกวียนเล็ก ขณะนั้น พระสงฆ์ถวายชัยมงคลคาถา ชาวประโคม ประโคมดุริยดนตรี ทหารถวายคำนับ และบรรเลงเพลงแตรสรรเสริญพระบารมี เมื่อทรงตักดินเทลงในเกวียนพอสมควรแล้ว ก็โปรดฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ ทรงไสเกวียนดินไปตามราง ซึ่งวางไปตามปรำ 
 
          เมื่อถึงที่ต้นทาง ที่จะทำทางรถไฟแล้ว พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเทดินลงถมที่นั้น แล้วคนงานทั้งหลาย จึงได้ลงมือขุดดิน ตามแนวทางที่ได้ปักกรุยไว้
 
          นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา การก่อสร้างทางรถไฟหลวงสายแรก ก็ได้ทำกันอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ต่อมากรมรถไฟหลวง ซึ่งมี มิสเตอร์ เบทเก เป็นเจ้ากรมรถไฟก็ได้บอกเลิกสัญญารับเหมา ที่มิสเตอร์ แคมป์เบลล์ทำไว้ เพราะผู้รับเหมา ไม่ทำตามสัญญา (ผู้รับเหมาสร้างทางรถไฟ ต่อจากมิสเตรอ์ แคมป์เบลล์ ไม่ทราบว่าเป็นใคร เพราะไม่มีรายงานบอกไว้)
 
          หลังจากที่ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธี สร้างทางรถไฟหลวงสายแรกแล้ว ต่อมาอีก 5 ปีเศษ การสร้างทางรถไฟหลวงสายแรก ก็ได้สำเร็จลงตอนหนึ่ง คือ ตอนตั้งแต่ กรุงเทพฯ ถึงกรุงเก่า เป็นระยะทาง 79 กิโลเมตร สิ้นเงินค่าก่อสร้าง ประมาณ 480,000 บาท
 
          ดังนั้น จึงจัดให้มีพระราชพิธีเปิดทางรถไฟสายนครราชสีมา ระหว่างกรุงเทพฯ กับกรุงเก่าขึ้น ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439

พระราชพิธีปฐมฤกษ์เปิดเดินรถไฟหลวง วันที่ 26 มีนาคม 2439 เวลา 10.00 น.

image ext
image ext
          วันที่ 26 มีนาคม 2439 เวลา 10.00 น. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน โดยขบวนรถพระที่นั่ง ออกจากพระบรมมหาราชวัง เลี้ยวไปตามถนนบำรุงเมือง แล้วเลี้ยวไปทางถนน หน้าวัดเทพศิรินทราวาส ถึงสพานกรมรถไฟ ข้ามสพานไปเทียบพระที่นั่ง ณ ที่พักรถม้า ในบริเวณรถไฟ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่น พิทยลาภพฤติธาดา เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และข้าราชการกระทรวงโยธาธิการและกรมรถไฟ พร้อมกันรับเสด็จอยู่ที่นั่น
 
          ครั้นเสด็จฯ ลงจากรถพระที่นั่งแล้ว หม่อมเจ้าหญิงสุมนมาลย์ ใน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤติธาดา ได้ทูลเกล้าฯ ถวายดอกกุหลาบมัดแด่ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ
 
          เมื่อมีพระราชดำรัส พอสมควรแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนิน ไปตามทางซึ่งดาดปรำตกแต่งเป็นระยะทาง 3 เส้น จึงถึงโรงพระราชพิธี ซึ่ง ณ ที่นั้น มีพระบรมวงศานุวงศ์ หม่อมห้าม เจ้านาย ข้าราชการ และภรรยา ตลอดจนทูตานุทูต และภรรยา กับผู้มีบรรดาศักดิ์ และพ่อค้าบรรดาที่ได้รับเชิญ ได้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เป็นจำนวนมาก
image ext
image ext
          เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัส กับบรรดาผู้ที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท บางท่านแล้ว ก็ทรงจุดเทียนนมัสการ ต่อจากนั้นก็ได้เสด็จพระราชดำเนินสู่ที่ ซึ่งจะได้ทำพระราชพิธี ที่หน้าพลับพลา ตรงที่ได้เทมูลดิน ซึ่งทรงขุดกระทำพระฤกษ์ เริ่มการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2434

          ทรงตรึงหมุดที่รางทองรางเงิน ข้างเหนือให้ติดกับหมอนไม้มริดคาดเงิน มีอักษรจารึก เป็นพระฤกษ์ พระสงฆ์ราชาคณะผู้ใหญ่ 15 รูป มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นประธาน สวดคาถาชัยมงคล เจ้าพนักงานประโคมสังข์แตรพิณพาทย์ และแตรวงขึ้นพร้อมกัน แล้ว

          สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ จึงทรงตรึงรางเงินรางทอง ลงเหนือหมอนไม้มริดคาดเงิน มีอักษรจารึก ซึ่งทอดไว้ทางด้านใต้ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และทูตานุทูต ทั้งชายหญิง ช่วยกันตรึงต่อไป จนเสร็จทั้ง 2 ราง ซึ่งนับว่าทางรถไฟ ในระหว่างกรุงเทพฯ กับกรุงเก่าติดต่อกันแล้ว ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
image ext
image ext
สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทรงตรึงรางเงินรางทอง ลงเหนือหมอนไม้มริดคาดเงิน มีอักษรจารึก ซึ่งทอดไว้ทางด้านใต้ 
 
          ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่โรงพิธี ประทับหน้าพระบัลลังก์ ซึ่งจัดตั้งพระราชอาสน์คู่หนึ่งอยู่ใต้เพดานแพร มีธงบรมราชธวัชดาดอยู่ด้านหลัง

          พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่น พิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ทรงอ่านคำกราบบังคมทูลพระกรุณาแล้ว มิสเตอร์เบทเก้ เจ้ากรมรถไฟ อ่านรายงานกราบบังคมทูลพระกรุณา ต่อจากนั้น พระองค์ได้มีพระราชดำรัส แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พะราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นบำเหน็จ แก่เจ้าพนักงานกระทรวงโยธาธิการและกรมรถไฟ 
image ext
image ext
          ต่อมา เจ้าพนักงานกรมรถไฟ ได้เคลื่อนขบวนรถไฟพระที่นั่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินประทับ เป็นพระฤกษ์ เข้ามาเทียบที่หน้าพลับพลา เมื่อพระองค์ทรงเจิมรถไฟพระที่นั่งแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระชัยเนาวโลหะขึ้นสู่รถนำ พร้อมด้วยพระราชาคณะผู้ใหญ่ 3 รูป มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส หม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ และ หม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตร กับพระราชาคณะฝ่ายรามัญ 1 รูป ฝ่ายวิปัสสนาธุระ 1 รูป สำหรับประพรมน้ำพระพุทธมนต์ และโปรยทรายไปในรถนำ ซึ่งอยู่หน้าพระที่นั่งแล้ว พระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่รถพระที่นั่ง (ส่วนสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถนั้น ไม่ได้โดยเสด็จด้วย เมื่อส่งเสด็จจนรถพระที่นั่งเคลื่อนออกจากหน้าพลับพลาแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับพระบรมมหาราชวัง) โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทูตานุทูตและพ่อค้า ตามเสด็จขึ้นสู่รถพ่วงคัน ต่อจากรถพระที่นั่งตามลำดับ

          ครั้นพร้อมแล้ว ขบวนรถไฟพระที่นั่ง ซึ่งนับเป็นรถโดยสารขบวนแรก ก็เคลื่อนออกจากพลับพลา พระสงฆ์ ที่ยังเหลือ 10 รูป มีสมเด็จพระวันรัต เป็นประธานสวดคาถาถวายชัยมงคลอีกครั้งหนึ่ง ชาวประโคม ก็ประโคมสังข์ แตรและพิณพาทย์พร้อมกัน 
image ext
image ext
          ขบวนรถไฟพระที่นั่ง ได้วิ่งผ่านสถานีรายทางซึ่งตกแต่งประดับประดา ด้วยธงและใบไม้ไปตามลำดับ จนกระทั่งเวลา 13.00 น. เศษ จึงถึงพลับพลาหลวงสถานีพระราชวังบางปะอิน

          ที่นี่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินลงจากรถพระที่นั่ง ประทับเสวยพระกระยาหารกลางวัน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้น้อย และทูตานุทูต

          ครั้นเสวยแล้ว พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ จึงกราบบังคมทูลพระกรุณา ถวายพระพรชัยมงคลแด่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าอยู่หัว แล้วพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และทูตานุทูต พร้อมกันถวายพระพรชัยมงคล ต่อจากนั้น พระองค์ได้พระราชทานพร แก่เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และกรมรถไฟ แล้วพระองค์ก็ได้เสด็จพระราชดำเนิน ขึ้นประทับรถไฟพระที่นั่ง ไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ส่วนผู้ที่ไม่ได้ตามเสด็จทางกรมรถไฟ ได้จัดรถไฟอีกขบวนหนึ่ง นำกลับเข้ากรุงเทพฯ) 
image ext
image ext
          เมื่อขบวนรถไฟพระที่นั่ง เคลื่อนออกจากสถานีบางปะอิน บรรดาข้าราชการ และทูตานุทูต ชาวต่างประเทศ ที่ไม่ได้ตามเสด็จ ได้โห่ถวายชัยมงคล 3 ลา ต่อจากนั้น ขบวนรถไฟพระที่นั่ง ก็ได้วิ่งมาถึงสถานีกรุงเก่า ณ ที่นั่น มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า และข้าราชการหัวเมือง มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เป็นจำนวนมาก ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระทำพิธีเปิด ศาลาว่าการรัฐบาลแล้ว เวลา 16.00 น. เศษ พระองค์ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นประทับรถไฟพระที่นั่ง กลับกรุงเทพฯ ถึงกรุงเทพฯ เวลา 18.00 น. เศษ

ภาพสถานีกรุงเก่าในสมัยแรก  
image ext
image ext
ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทูตานุทูตและพ่อค้า ที่เข้าร่วมพระราชพิธีเปิดเดินรถไฟหลวง

กรมรถไฟเปิดการเดินรถ ระหว่างกรุงเทพ กับกรุงเก่า 28 มีนาคม พ.ศ. 2439

image ext
image ext
ต่อจากวันพระราชพิธีปฐมฤกษ์เปิดเดินรถไฟหลวงอีก 2 วัน คือวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2439 กรมรถไฟก็ได้เปิดการเดินรถไฟ ระหว่างกรุงเทพ กับกรุงเก่าขึ้น โดยจัดรถไฟวิ่งไปมาวันละ 4 ขบวน คือ ขบวนรถไฟ นัมเบอร์ 2 และ 4 ออกจากสเตชั่น หรือโรงพัก (สถานี) กรุงเทพ เวลาเช้าย่ำรุ่ง 45 (06.45 น.) กับเวลาเย็น 3 โมง 19 (15.19 น.) ตามลำดับ ส่วนรถไฟขบวนนัมเบอร์ 1 และ 3 ออกจากสเตชั่นกรุงเก่า เวลาเช้าย่ำรุ่ง 41 กับเวลาเย็น 3 โมง 15 ตามลำดับ มาถึงสเตชั่นกรุงเทพ เวลา 3 โมง 16 กับเวลาเย็น 5 โมง 40 ตามลำดับ หรือพูดกันง่าย ๆ ก็คือวิ่งไปมาเช้า 2 ขบวน เย็น 2 ขบวนนั่นเองมีสถานีรวม 9 สถานี คือ สถานีกรุงเทพ บางซื่อ หลักสี่ หลักหก คลองรังสิต เชียงราก เชียงรากน้อย บางปะอิน และกรุงเก่า ส่วนราคาค่ารถโดยสาร จากสเตชั่นกรุงเทพฯ ถึงสเตชั่นกรุงเก่า ชั้นที่ 1 ราคา 4 บาท 24 อัฐ ชั้นที่ 2 ราคา 16 อัฐ และชั้นที่ 3 ราคา 1 บาท 7 อัฐ 

หมอนไม้มริดคาดเงิน

image ext
image ext
           "หมอนไม้มริดคาดเงิน" ที่ใช้ในพระราชพิธีปฐมฤกษ์เปิดเดินรถไฟหลวงสายแรก เมื่อวัน 26 มีนาคม พ.ศ.2439 มีอักษรจารึกว่า "ไม้หมอนนี้ สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนารถ ได้ทรงวางในทางรถไฟสายนครราชสีห์มา เพื่อทรงกระทำให้แล้วเสร็จ ได้เปิดใช้ทั่วไปในระหว่าง กรุงเทพฯ - กรุงเก่า แต่ ณ วันที่ ๒๖ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๕" ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

สถานีรถไฟกรุงเทพ

image ext
image ext
"สถานีรถไฟกรุงเทพ” หรือเรียกกันทั่วไปว่า “หัวลำโพง” (ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่สถานีเดียวกันก็ตาม) เริ่มก่อสร้างในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 คือในปี พ.ศ.2453 การก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ทรงกระทำพิธีกดปุ่ม สัญญาณไฟฟ้าให้รถไฟขบวนแรกเดินเข้าสู่ สถานีกรุงเทพ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2459 

“สถานีรถไฟกรุงเทพ” สร้างอยู่ในพื้นที่ 120 ไร่เศษ อยู่ห่างจากสถานีเดิมไปทางทิศใต้ ประมาณ 500 เมตร ตั้งอยู่ในท้องที่ แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ มีอาณาเขต 
- ทิศเหนือ จรดคลองมหานาค 
- ทิศใต้ จรดถนนพระราม 4 
- ทิศตะวันออก จรดถนนรองเมือง 
- ทิศใต้ จรดคลองผดุงกรุงเกษม 

สำหรับที่ตั้งของสถานีกรุงเทพเดิมซึ่งอยู่บริเวณที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีเริ่มการก่อสร้าง และเปิดเดินรถไฟหลวงนั้น หลังจากได้ก่อสร้างสถานีกรุงเทพหลังปัจจุบันแล้วจึงรื้อถอนออกไป ต่อมาผู้ปฏิบัติงานรถไฟได้ร่วมกัน สละทรัพย์สร้างเป็นอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวงขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2533 เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นอนุสรณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์แก่อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป 
 
“สถานีกรุงเทพ” มีแบบก่อสร้างเป็นรูปโดมสไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรอเนสซองมีลักษณะคล้ายกับ สถานีรถไฟ เมืองแฟรงค์เฟิร์ตในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน อีกทั้งวัสดุในการก่อสร้างก็เป็นวัสดุสำเร็จรูปจากเยอรมันนี เช่นกัน ลวดลายต่างๆที่ประดับไว้เป็นศิลปะที่มีความวิจิตรสวยงามมาก บันไดและเสาอาคารบริเวณทางขึ้นที่ทำการกองโดยสาร หรือโรงแรม-ราชธานีเดิมเป็นหินอ่อน โดยเฉพาะเพดานเป็นไม้สักสลักลายนูน ซึ่งหาดูได้ยาก จุดเด่นของสถานีกรุงเทพอีกอย่างหนึ่งคือ กระจกสีที่ ช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งติดตั้งไว้อย่างผสมผสานกลมกลืนกับตัวอาคารเช่นเดียวกับนาฬิกาบอกเวลาที่มีอายุเก่าแก่ เท่าๆกับตัวอาคารสถานี โดยติดตั้งไว้ที่กึ่งกลางยอดโดมสถานี เป็นนาฬิกาที่สั่งทำพิเศษเฉพาะไม่ระบุชื่อบริษัทผู้ผลิตแสดงให้เห็น เหมือนนาฬิกาอื่นๆ นาฬิกาเรือนนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 160 เซนติเมตร ควบคุมด้วยไฟฟ้าระบบดี.ซี.จากห้องชุมสายโทรศัพท์กรุงเทพ เป็นเครื่องบอกเวลาแก่ผู้สัญจรผ่านไป-มา และผู้ใช้บริการที่สถานีกรุงเทพจนถึงปัจจุบันนี้ 

ภาพจากเพจทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

New stories

all : eat | fun | travel | cannabis

Latest view

มีเรื่องอยากเล่า มีร้านอยากอวด มีกิจกรรมเด็ดๆ อยากโปรโมทเชิญชวน ส่งเรื่อง/ภาพมาที่ eatfuntravel.com@gmail.com