งานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2566 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2566 ในปีนี้เทศบาลนครเชียงใหม่ หวังจัดอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อพลิกฟื้นการท่องเที่ยวเชียงใหม่ ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง พร้อมกับเน้นหนักในด้านคุณค่าการส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น ออกสู่ประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งไทยเทศ ให้ได้สัมผัสถึงเอกลักษณ์จารีตประเพณีล้านนา ที่ทรงคุณค่ายิ่ง และที่สำคัญงานยี่เป็งจะเป็นตัวหนุนส่งเสริมด้านเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม้ให้กลับมาเดินหน้า
กิจกรรมในงานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ในปีนี้ จะมีการจัดในหลากหลายจุด ทั่วเมืองเชียงใหม่ อาทิ
- กิจกรรมประกวดกระทงใหญ่ ชิงถ้วยพระราชทานฯ
- การประกวดโคมยี่เป็งล้านนา
- ประกวดทำกระทงฝีมือใบตอง
- กิจกรรมต๋ามผางปะตี้ดส่งฟ้าฮักษาเมือง
- กิจกรรมล่องสะเปา
- ปล่อยกระทงสาย
- การแสดงแสง สี เสียง และสื่อผสม
- การแสดงพลุเฉลิมพระเกียรติ
- กิจกรรมศิลปวัฒนธรรมต่างๆ อีกมากมาย
โดยยังคงความเป็นล้านนาแบบย้อนยุคเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมสมัยก่อน
ในด้านการรักษาความปลอดภัย ปีนี้ มีความเข้มงวดอย่างสูงสุด สั่งห้ามการการลักลอบซื้อขายโคมลอยและการปล่อยโคมลอย ประทัด ดอกไหม้ไฟในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต การลักลอบจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่จะลงโป๊ะเพื่อลอยกระทง เพื่อให้การจัดกิจกรรมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
งานประเพณียี่เป็งจะถือเป็นพลุนัดแรกที่กระตุ้นการท่องเที่ยวในเชียงใหม่และภูมิภาคภาคเหนือให้กลับมาคึกคัก และกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกครั้ง ซึ่งต่อจากเทศกาลนี้จะมีอีกมากมายเทศกาลไล่เรียงกันมาต้อนรับนักท่องเที่ยวในบรรยากาศลมหนาวอันแสนโรแมนติกจนถึงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กันเลยทีเดียว นักเดินทางโปรดเตรียมแผนไว้ให้ดี
*ภาพงานเทศกาลยี่เป็งปี 2565 จากเทศบาลเมืองเชียงใหม่
น่ารู้เรื่องเทศกาลยี่เป็งแห่งล้านนา
ในช่วงเวลาเทศกาลลอยกระทงของภาคกลาง เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับเทศกาลประเพณียี่เป็งของทางภาคเหนือ สำหรับชาวเหนือถือเป็นงานสำคัญอีกช่วงหนึ่งของปี มีการประดับประดาดวงโคมตามบ้านเรือนวัดวา จุดผางประทีป ประเพณียี่เป็ง หรือประเพณีเดือนยี่ เป็นประเพณีเก่าแก่ของล้านนที่สืบทอดมานาน โดยคำว่า "ยี่" แปลว่า สอง ส่วน "เป็ง" แปลว่า เพ็ญ หรือ คืนพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งหมายถึงประเพณีในวันเพ็ญเดือนสองของชาวล้านนา งานประเพณีจะมีทั้งหมด 3 วัน คือ
- วันขึ้นสิบสามค่ำ หรือ ชาวพื้นถิ่นเรียกว่า "วันดา" จะเป็นวันสำหรับการซื้อของตระเตรียมสิ่งต่างๆ ไปทำบุญที่วัด (ในปีนี้ตรงกับวันที่ ๒๙ ต.ค. ๒๕๖๓)
- วันขึ้นสิบสี่ค่ำ จะไปทำบุญกันที่วัด พร้อมทำกระทงใหญ่ไว้ที่วัดและนำของกินมาใส่กระทงเพื่อทำทานให้แก่คนยากจน (ในปีนี้ตรงกับวันที่ ๓๐ ต.ค. ๒๕๖๓)
- วันขึ้นสิบห้าค่ำ จะนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็กส่วนตัวไปลอยในลำน้ำ (ในปีนี้ตรงกับวันที่ ๓๑ ต.ค. ๒๕๖๓)
กิจกรรมที่ชาวล้านนานิยมกระทำในประเพณียี่เป็ง คือ การจุดผางประทีปและโคมไฟบูชาพระเจ้าห้าพระองค์ การปล่อยว่าว จุดบอกไฟชนิดต่างๆ วัด การไปทำบุญที่วัดในวันยี่เป็ง การฟังเทศน์ใหญ่ ที่เรียกว่า เทศมหาชาติ และการทำซุ้มประตูป่า
ประเพณีเดือนยี่เป็ง จังหวัดในภาคเหนือที่สำคัญและเป็นที่รู้จัก ในปีที่ผ่านมา (2565)
- ประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ 2565 ในปีที่ผ่านมา จัดระหว่างวันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2565 จัดโดย เทศบาลนครเชียงใหม่ ด้วยแนวคิด "ความสุขแห่งสายน้ำ ปิงนครามหานที" เป็นการกลับมาจัดครั้งยิ่งใหญ่หลังจากพ้นยุคโควิด เป็นงานที่ได้สัมผัสบรรยากาศความงดงาม สืบสานงานประเพณีและวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ อย่างอลังการแบบสุดๆ จริงๆ
- ประเพณียี่เป็งลอยกระทง เชียงราย หรือชื่องาน "ป๋าเวณียี่เป็งนครเชียงราย" จัดขึ้น วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ณ สวนตุงและโคมนครเชียงราย โดย เทศบาลนครเชียงราย มีกิจกรรมลอยกระทง การประกวดหนูน้อยนพมาศ ขบวนแห่กระทงที่ยิ่งใหญ่จากสวนตุง และโคมฯ ถนนธนาลัย สู่สถานที่จัดงาน และ มีการประกวดนางนพมาศ ประกวดโคม ประกวดกระทง พร้อมการแสดงบนเวทีอย่างตระการตา
- ประเพณียี่เป็งจังหวัดลำพูน ปี2565 จัดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ณ ศาลากลางจังหวัดลำพูน (หลังเก่า) อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน โดย อบจ.ลำพูน ร่วมกับ เทศบาลเมืองลำพูน ใช้ชื่อเทศกาล” โคมแสนดวงที่เมืองลำพูน ” จัดขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาต่อองค์พระธาตุเจ้าหริภุญชัย และการถวาย ซึ่งโคมล้านนา พิธีถวายโคมหลากสี แด่พระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีย์แห่งนครหริภุญชัย มีการจัดการประกวดปล่อยโคมลอย ประเภทนักเรียนนักศึกษา และ ประเภทประชาชนทั่วไป (รูปเเบบเเฟนซี) ทำให้เป็นปีที่มีโคมลอยเเฟนซี ในรูปเเบบที่เเฟนซีที่เเปลกตา บรรยากาศสีสันในการจัดกิจกรรมที่สนุกสนาน ในลำพูน
- ประเพณียี่เป็ง ลอยกระทงที่กว๊านพะเยา ประจำปี 2565 วันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2565 ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง และถนนชายกว๊านพะเยา โดย เทศบาลเมืองพะเยา เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนและเยาวชนได้เรียนรู้และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม และเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดพะเยาโดยไฮไลท์ภายในงานชมการประกวดนางนพมาศกว๊านพะเยา การแสดง แสง สี เสียง ขบวนแห่กระทง 15 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองพะเยา
- ป๋าเวณียี่เป็งละกอนลำปาง หรือประเพณียี่เป็งแห่ง จ.ลำปาง ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ณ สวนสาธารณะหนองกระทิง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง จัดโดย อบจ.ลำปาง ภายในงานพบกับความตระการตาของข่วงโคม 3,500 ดวง ประกวดซุ้มประตูป่า ประกวดบอกไฟดอก (พลุโอ่ง) การแสดงซอ ปุยฝ้าย มะลิวัลย์ (เวลา 10.00 น.) การแสดงศิลปะ วัฒนธรรม การประชันวงปี่พาทย์ การแสดงวงแสนละเมา-ธวัชเมืองเถิน (เวลา 21.00 น.) กิจกรรม work shop อาทิ ทำผางประทีป ระบายสีโคม ประดิษฐ์กระทงใบตอง บายศรี สวยกาบ ตำข้าวใหม่ด้วยครกมอง ทำโคมยี่เป็ง และวัฒนธรรมทางอาหารที่ใช้ใบตอง ประกอบด้วย อาหาร 1 อย่าง ขนม 1 อย่าง เช่น ข้าวต้มมัดกล้วย แหนบต่างๆ พร้อมชมเครื่องแต่งกายชุดไทยล้านนา และนิทรรศการประเพณีลอยกระทง