Eat Fun Travel Latest view Top view
Thumbnail imgxs

วัดพนัญเชิง เป็นวัดเก่าแก่และได้รับการยกย่องเป็นวัดที่มีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจ.พระนครศรีอยุธยา ด้วยเป็นวัดที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต หรือพระพุทธไตรรัตนนายก หรือ เจ้าพ่อซำปอกง ที่พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศให้ความเคารพนับถือและเดินทางจากทั่วทุกสารทิศเพื่อมากราบไหว้บูชาเพื่อเป็นสิริมงคลอย่างต่อเนื่องยาวนาน


ประวัติย่อ ของวัดพนัญเชิง
วัดพนัญเชิงเป็นวัดเก่า สร้างสมัยเมืองอโยธยาเป็นราชธานี ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พระเจ้าดวงเกรียงกฤษณราช (พระเจ้าสายน้ำผึ้ง) ครองเมืองเสนาราชนครตั้งอยู่ปากน้ำแม่เบี้ย เป็นผู้สร้างวัดนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระนางสร้อยดอกหมาก พระเจ้าศรีธรรมโศกราช (สมเด็จพระเอกาทศรฐ) เป็นผู้สร้างพระเจ้าพะแนงเชิง คือ องค์พระพุทธไตรรัตนนายก (หลวงพ่อโต) สร้างก่อนกรุงศรีอยุธยา 26 ปี สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์แค่พระเจ้าสายน้ำผึ้งผู้เป็นพระอัยยกา นามเดิมหลวงพ่อโต เรียกว่า พระเจ้าพะแนงเชิง ในรัชกาลที่ 4 คือ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า พระพุทธไตรรัตนนายก จึงได้นามมาตลอดปัจจุบันนี้ พระมหากษัตริย์ได้อุปถัมภ์ตลอดมาโดยลำดับ
 
วัดนี้เป็นพระอารามหลวงมาแต่สมัยโบราณ และปัจจุบันนี้ก็เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ องค์พระพุทธไตรรัตนนายก (หลวงพ่อโต) และพระพุทธรูปทองสมัยสุโขทัย ประดิษฐานในพระอุโบสถ 2 องค์ จึงเป็นที่เคารพสักการะทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ 
 
วัดพนัญเชิงเป็นวัดเก่ามานาน เสนาสนะสงฆ์และปูชนียสถานได้ชำรุดทรุดโทรมไปเป็นอันมาก ทางคณะสงฆ์และทางราชการได้ช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์มาโดยลำดับตลอดปัจจุบันนี้ก็ได้ดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์อยู่เสมอ วัดพนัญเชิงตั้งอยู่ตำบลกะมัง ริมฝั่งแม่น้ำแควป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา



image ext
image ext
 

ประวัติการสถาปนาพระพุทธเจ้าเจ้าพแนงเชิง

image ext
image ext
พระราชพงศาวดารฉนับหลวงประเสริฐอักษรนิติ บันทึกว่า "ลุศักราช 686 ชวดศกแรก สถาปนพระเจ้าพแนงเชิง" นั่นคือหลักฐานที่แสดงว่าพระพุทธรูปเจ้าพะแนงเชิงนั้น สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1867 (จุลศักราช 686)
 
พงศาวดารเหนือ ของพระวิเชียรปรีชา (น้อย) ปรากฏเรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นกษัตริย์ที่ขุนนางผู้ใหญ่ พราหมณ์ปุโรหิตของเมืองละไว้ ทำพิธีเสี่ยงเครื่องราชกกุธภัณฑ์กับเรือเอกชัยสุพรรณหงส์ ขึ้นครองราชสมบัติ ต่อมาพระเจ้ากรุงจีน ได้พระราชทานบุตรบุญธรรมในจั่นหมาก นามว่า นางสร้อยดอกหมากให้เป็นพระอัครมเหสี นางสร้อยดอกหมากสิ้นพระชนม์ พระเจ้าสายน้ำผึ้งพระราชทานเพลิงที่แหลมบางกะจะ ซึ่งบริเวณดังกล่าวได้สถาปนาเป็นพระอารามให้นามวัดพระเจ้าพระนางเชิง
 
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับความสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส คราวก่อนกรุงศรีอยุธยาจะล่มสลาย พ.ศ. 2310 ว่า "...ด้วยอายุแผ่นดิน
กรุงศรีอยุธยาถึงกาลขาด จึงอาเพศให้เห็นประหลาดเป็นนิมิต พระประธานวัดเจ้าพระนางเชิงน้ำพระเนตรไหลลงมาจนถึงพระนาภี..."
 
จดหมายเหตุของนายแคมเฟอร์ ซึ่งเดินทางมากรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา พ.ศ. 2234 บันทึกสรุปได้ว่า "...ที่วัดมอญนอกกรุง
มีพระประธานองค์ใหญ่ปิดทองอร่าม สูงถึง 120 ฟุต..." อันหมายถึง พระพุทธเจ้าพแนงเชิง

ส่วนพระลักษณะแห่งองค์พระพุทธไตรรัตนนายก

image ext
image ext
พระพุทธไตรรัตนนายก เป็นพระพุทธรูปปั้นปางมารวิชัย ในทำเนียบพระพุทธรูป กล่าวว่าสร้างเมื่อปีชวด พ.ศ. 1867 ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา 26 ปี
 
องค์พระท่านมีส่วนดังนี้
1. เส้นพระศกมี 4 ขนาดโต 6, 8, 10, 12 นิ้ว รวม 817 ปุ้ม
2. พระเศียรวัดโดยรอบ 12.60 ม.
3. พระเมาลีอากพระศกสูง 5.10 ม.
4. พระเมาลีถึงพระอังสา 9.30 ม.
5. พระกรรณยาว 3.20 ม.
6. พระพักตร์กว้าง 6.00 ม.
7. พระโอษฐ์กว้าง 1.40 ม.
8. พระศกถึงพระหนุ 3.80 ม.
9. พระอังสากว้าง 8.70 ม.
10. พระหนุถึงพระเพลา 8.00 ม.
11. พระอุรถึงพระซานุ 6.60 ม.
12. พระชานุถึงปลายพระบาท 12.50 ม.
13. พระเพลากว้าง 14.20 ม.
14. พระรัตนบัลลังก์ถึงพระเมาลีสูง 19.20 ม.
15. พระวิหารเป็นที่สถิตย์ สูงแต่พื้นถึงอกไก่ 37 เมตร กว้าง 26.00 ม.
 

คาถาบูชาหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิงวรวิหาร

image ext
image ext
คาถาบูชาพระพุทธไตรรัตนนายก (หลวงพ่อโต) วัดพนัญเชิงวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา
 
ตั้งนะใม 3 จบ แล้วว่า
โตเสนโต วะระธัมเมนะ โตสัฏฐาเน สิเว วะเร โตสัง อะกาสิ ยันตูนัง โตสะจิตตัง นะมามิหัง
 
ขอเดชะะหลวงพ่อโตพุทโธภาส โลกนารถจอมมุนินทร์อินศรี แม้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปนานปี ยังคงมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิพร 
ทุกๆ แห่งแหล่งปูชนียสถาน ช่วยบันดาลวัฒนาสถาผล แค่บรรดาโยมญาติสาธุชน ทั่วทุกคนที่มาวันทาเทอญฯ
 
 
ตั้ง นะโม ๓ จบ แล้วกล่าวถวายผ้าห่มหลวงพ่อโต
อิม่านิ มะยัง ภันเต พุทธะปูชะนะวัตถานิ สะปะริวารานิ ระตะนัตตะยัสเสวะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต อิเมหิ พุทธะปูชะนะ วัตเถหิ สะปะริวาเรหิ ระตะนัตตะยัสสะ ปูชา อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ ปิยะชะนานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุฯ
 
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้าห่มหลวงพ่อโตผืนนี้ เพื่อเป็นเครื่องสักการะบูชา แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ทั้งเทพยดาทั้งหลาย ผู้สถิตรักษาพระพุทธปฏิมานี้  พร้อมด้วยของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ขอการบูชาคุณพระศรีรัตนตรัยด้วยผ้าห่มหลวงพ่อโต พร้อมด้วยของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ และความสุข เพื่อความเจริญรุ่งเรือง แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย และแก่ปิยะชนทั้งหลาย มีมารดาบิดา เป็นต้น พร้อมด้วยเหล่าบริวารทั้งหลาย และขออุทิศบุญกุคลนี้แด่เหล่าบรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว เทพยดาทั้งปวง เหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย ขอจงได้อนุโมทนามีส่วนในบุญกุศลนี้ ด้วยกันทุกท่านเทอญฯ
 
สุทินนัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักยะยาวะหัง นิพพานะปัจจะโย โหตุ
ลำดับต่อไป เชิญตั้งจิตอธิษฐานได้ตามดวามปรารถนา เสร็จแล้วนำผ้าห่มไปวางถวายพระพุทธไตรรัดนนายก (หลวงพ่อโต) ที่พานด้านหน้าองค์หลวงพ่อโตฯ
 

ภาพถ่ายหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิงวรวิหาร ดาวน์โหลดได้ฟรี

image ext
image ext
ภาพถ่ายหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิงวรวิหาร ดาวน์โหลดได้ฟรี โหลดเก็บไว้ในเครื่องมือถือ เป็นมงคลติดตัวไปตลอดทุกที่ทุกเวลา มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ติดตัวเพื่อให้มีสติสัมปชัญญะ ตระหนักตื่นรู้ เห็นดีเห็นชอบในสิ่งควร ไม่ประมาทกับสิ่งรอบตัว ไม่ประมาทกับการใช้ชีวิต ไม่ประมาทกับกิจที่ทำ ไม่ประมาทกับการเข้าสังคม สำรวจกาย วาจา ใจ แล้วบุญศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อโตจะคุ้มครองและนำความเจริญมาสู่ท่าน
image ext
image ext
 
image ext
image ext
 
image ext
image ext
 
image ext
image ext
 
image ext
image ext
 
image ext
image ext
 

ประวัติเจ้าอาวาส วัดพนัญเชิงวรวิหาร

ในสมัยต้นๆ ไม่พบหลักฐานว่ามีพระสงฆ์รูปใดเป็นเจ้าอาวาสมาบ้าง มาปรากฎหลักฐานในลมยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 จนถึงปัจจุบัน วัดพนัญเชิงวรวิหาร มีเจ้าอาวาส จำนวน 13 รูป
1. พระมงคลเทพมุนี (ปิ่น)
2. พระครูจันทรกัษี (เอี่ยม)
3. พระสมุห์ (เนียม)
4. พระครูจันทรรังษี (สะอาด)
5. พระครูจันทรรัศมี (แสง)
6. พระครูจันทรรัศมี (พลอย) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส พ.ศ. 2455 - 2466
7. พระครูจันทรรัศมี (สอน) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส พ.ศ. 2466 - 2470
8. พระญาณไตรโลก (ฉาย) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส พ.ศ. 2470 - 2488
9. พระเทพวงศาจารย์ (แกร สมโม) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส พ.ศ. 2488 - 2514
10. พระราชสุวรรณโสกณ (โกย การุณิโก) ดำรงตำเหน่งเจ้าอาวาส พ.ศ. 2515 - 2522
11. พระอดุลย์ธรรมเวที (ไวทย์ อินทวโส) ผู้รักษาการเจ้าอาวาส พ.ศ. 2522 - 2523
12. พระธรรมญาณมุนี (ไวทย์ มุตตกาโม ป.ธ.5) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส พ.ศ. 2523 - 2546
13. พระธรรมรัฒนมงคล (แกว กตสาโร) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส พ.ศ. 2547 - ปัจจุบัน

New stories

all : eat | fun | travel | cannabis

Latest view

มีเรื่องอยากเล่า มีร้านอยากอวด มีกิจกรรมเด็ดๆ อยากโปรโมทเชิญชวน ส่งเรื่อง/ภาพมาที่ eatfuntravel.com@gmail.com